Episodes
Friday Oct 02, 2020
ความสุข 4 ระดับ กับความรู้สึกตัว พจ.เอกวีร์ 170963
Friday Oct 02, 2020
Friday Oct 02, 2020
เทศนาธรรมโดยพระอาจารย์เอกวีร์ มหาญาโณ (พจ.อั๋น)
วันที่ 17 กันยายน 2563 ณ ห้องไลน์ฟังธรรม
ความสุข 4 ระดับนะ
ความสุขระดับแรกที่คนเรามักจะคุ้นเคย มันเป็นความสุขระดับที่หยาบที่สุด หยาบที่สุดเนี่ย คือ ความสุขในเรื่องของผัสสะ โยม เคยได้ยินพระอาจารย์กระสินธุ์พูดอยู่บ่อย ๆ เนาะ เวลาเราศึกษาเรียนรู้กับพระอาจารย์กระสินธุ์ ท่านจะบอกเราอยู่บ่อย ๆ ว่า ให้สังเกตผัสสะใช่ไหม
ผัสสะก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วเราก็รับรู้ความรู้สึกผ่านอายตนะเหล่านี้
จริง ๆ แล้ว เวลาเราคุ้นเคยกับความสุขในชีวิตเราเนี่ย คนส่วนใหญ่แล้ว จะใช้ชีวิตโดยแสดงหาความสุขระดับนี้มากที่สุดเลย
ความสุขจากการได้ไปกินของอร่อย ๆ
มีอะไรสวย ๆ งาม ๆ ดู
มีที่อยู่ สบายนุ่ม แข็งแรงในเรื่องของผัสสะ
ได้ดมกลิ่นหอม ๆ
ได้พูดคุย ได้สัมพันธ์กับความสนุกสนานในชีวิต
อันนี้คือความสุขของเรื่องของผัสสะ ซึ่งเป็นความสุขที่ จริง ๆ แล้วในทุกคนในโลกนี้คุ้นเคย แล้วมันจะน่าเสียดายถ้าเราใช้ทั้งชีวิตของเราเนี่ย แสวงหาความสุขแค่ระดับนี้เท่านั้นเอง เพราะว่าความสุขระดับนี้ มันจะเกิดขึ้นมาสักพักหนึ่ง แล้วมันก็หายไป แล้วก็เกิดขึ้นมา แล้วมันก็จะไม่มีวันอิ่ม ความสุขที่เกิดขึ้นจากผัสสะ
แต่มันดี เราจำเป็นจะต้องมีความสุขแบบนี้ เพื่อสัมพันธ์กับชีวิตของเรา ให้ชีวิตเรามันมีความสุข ไม่ได้ต้องการให้เราทุกข์นะ แต่ต้องการว่า อย่าให้ความสุขแค่ระดับนี้ มันเป็นทั้งหมดของชีวิต คือความสุขระดับผัสสะนี้มันเป็นความสุขที่มันที่หยาบที่สุด แล้วเราก็ทำมาตลอดชีวิต แล้วเราก็จะทำไปจนตาย ทำไปจนตาย โดยที่มันไม่มีวันเต็ม
เพราะฉะนั้นความสุขระดับนี้ พระพุทธเจ้าท่านจะบอกว่า ให้เรียนรู้ที่จะอยู่กับความสุขของผัสสะนี้ ให้เหมาะสม ไม่ได้ไม่ให้มี การมีนั้นดี และควรจะทำให้มี เพื่อให้ชีวิตมันอยู่ง่าย แต่อย่าให้ความสุขทางผัสสะแค่นี้เป็นทั้งหมดของชีวิตนะ
พวกเราลองนึกดูนะว่าคุ้นเคยไหม ความสุขระดับนี้
อ่ะ ทีนี้ความสุขระดับที่ 2 เขาเรียกว่าเป็นความสุขที่เกิดจากจิตใจที่มันมีความเป็นกุศล คือเป็นเรื่องของจิตใจแล้ว ความสุขระดับแรกนี้ เราเป็นแค่ผู้เสพ ความสุขระดับที่ 2 เนี่ย เรามีความเป็นผู้ให้ มีความเป็นผู้ที่ ทำสิ่งที่ดี ๆ ให้เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวเรา พอนึกออกไหม บางทีมันจะเป็นเรื่องของความรัก ความเมตตา การได้ทำบุญ การได้ทำอะไรดี ๆ ในชีวิต แล้วเรารู้สึกว่ามันอิ่มในใจน่ะ ความสุขแบบนี้ไม่เหมือนกับความสุขที่เกิดจากการได้กินของอร่อย ไม่เหมือนกันนะ
เราไปกินอาหารที่ร้านอร่อย ๆ เราก็ได้รสชาติ แต่เราไม่ได้ได้ความสุขที่ลึกซึ้งกว่านี้ ถ้าโยมมีลูกเนี่ย โยมลองนึกถึงตอนที่โยมได้รับความรักจากได้ลูก ได้กอดลูก ได้กอดพ่อแม่ตัวเอง ได้มีความสุขจากการสัมพันธ์กับคนที่เขา ที่เขาเป็นคนดีน่ะ หรือว่าเรามีการทำสิ่งที่ดี ๆ เพื่อคนอื่น ความสุขแบบนี้เป็นความสุขที่ละเอียดขึ้น ความสุขจากการมีจิตใจที่เป็นกุศล
ความสุขอันนี้จำเป็นกับชีวิต ถ้าไม่อย่างนั้นชีวิตเราก็จะมีแต่ตัวเอง
จริง ๆ แล้วแก่นสารของการมีความสุขในระดับที่ 2 จากจิตใจที่มันมีความเป็นกุศลเนี่ย มันจะเกิดจากการที่เราสามารถที่จะละวางตัวเอง แล้วเอาผู้อื่นน่ะ มี ให้ผู้อื่นมีความสำคัญต่อเรา มากกว่าเราที่เราจะทำเพียงแค่เพื่อตัวเอง
ให้เราลองนึกดู เวลาที่เราไปทำบุญก็แล้วแต่ หรือเราไปช่วยคนที่เขายากลำบาก ช่วยหมาข้างถนนก็ได้ ช่วยอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ได้ เรามีความสุขมากเลยนะ จริง ๆ แล้วเนี่ย สุขไปทั้งวันเลยก็มี หรือว่าใครมาพูดดี ๆ กับเรา เราก็สามารถมีความสุขที่ละเอียดขึ้นอย่างนี้ได้ จิตใจที่เป็นกุศลนี้ จะนำพามาซึ่งความสบายทั้งกายทั้งใจ ร่างกาย ระบบฮอร์โมนเรา อะไร ๆ ก็จะทำงานได้ดีขึ้น
อันนี้คือความสุขระดับที่ 2 ระดับแรกคือเรื่องผัสสะ อันนี้คุ้นเคยแน่นอน ระดับที่ 2 คือการที่เรามีจิตใจที่เป็นกุศลเนี่ย มันมีความละเอียดขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง คนจำนวนมากอาจจะไม่เคยคุ้นเคยกับความสุขระดับนี้ด้วยซ้ำนะ อันนี้คือความสุขระดับที่ 2 ความสุขจาก จิตใจที่เป็นกุศล
ทีนี้ อันนี้เนี่ย 1 และ 2 เนี่ย เป็นความสุขจริง ๆ แล้วยังเป็นความสุขแบบโลกอยู่ เป็นความสุขที่คนอยู่ในโลกปกติทุกคนจะเคยเจอ และคุ้นเคย อยู่ที่ใครจะสามารถดำรงอยู่กับความสุขแบบนี้ได้มากน้อยแค่ไหน และถ้ามันสูญหายไป เราจะเสียดาย เราจะรู้สึกทุกข์ ถ้าความสุข 2 แบบนี้หายไป จริง ๆ แล้วชีวิตมีความสุขที่ลึกกว่านี้นะ ซึ่งคนที่ไม่เคยฝึกอาจจะไม่เข้าใจ
ความสุขระดับที่ 3 เนี่ย เป็นความสุขที่เกิดจากสมาธิ คนที่เคยปฏิบัติเนี่ย อาจจะเคยรู้สึกถึงความสุขแบบนี้ โยมน่าจะต้องเคยนะ ไม่เห็นหน้ากันก็ไม่รู้แล้ว เคยหรือไม่ที่ปฏิบัติธรรมไปแล้ว จิตใจมันอยู่ดี ๆ มันมีปีติ มันโล่งเบาสบาย มันไม่มีความคิด มันไม่มีความวิตกกังวลในจิตใจ จนกระทั่งเรารู้สึกว่าจิตใจเรามันมีความตั้งมั่น ความสุขที่เกิดจากสมาธิ คนที่เคยภาวนา แล้วเคย ในสายหลวงพ่อเทียนเราจะเรียกว่าได้อารมณ์ จะเริ่มเคยรู้จักก่อนว่า มันมีความสุขแบบนี้
จริง ๆ แล้วในการภาวนาเนี่ย เขาจะเรียกว่าความสุขที่เกิดจากการทำสมถะ จิตใจที่มีความตั้งมั่น สงบ แม้ยังไม่เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งว่า จริง ๆ แล้ว ชีวิตเรามีปัญหาเพราะอะไรนะ แต่เมื่อจิตใจมันเว้นจากความวุ่นวาย แล้วมีความสงบมากขึ้นเนี่ย เราจะพบว่ามันมีความสุขมากมายเลย มีความสุขอีกแบบหนึ่งที่เราไม่เคยเจอในชีวิตประจำวัน มันจะไม่เหมือนกินของอร่อย มันจะไม่เหมือนกับเอาของดี ๆ ไปให้คนอื่นด้วย มันเป็นความสุขจากจิตใจที่มันสงบ
ความสุขระดับที่ 3 นี้ เป็นความสุขที่เกิดจากสมาธิ จิตใจบางทีมีกำลัง สามารถรับรู้ความละเอียดของร่างกายได้มากขึ้น รับรู้ผัสสะได้ละเอียดขึ้น มีความปีติเกิดขึ้น บางทีจิตใจสว่าง รู้สึกว่าจิตตั้งมั่น เป็นหนึ่ง คำพูดพวกนี้ คนไม่เคยปฏิบัติจะไม่รู้จัก แต่ถ้าคนที่เคยภาวนาแล้ว จะเริ่มได้กลิ่นอาย หรือว่าเคยสัมผัสแล้ว แล้วเราก็จะรู้ว่า พอเราเริ่มรู้จักความสุขแบบนี้ ความสุขแบบโลก ๆ แบบที่ 1 เราจะรู้สึกว่า มันก็ดีนะ แต่มันจะไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตแล้ว มันมีสิ่งที่ลึกซึ้งกว่านั้น นะ อันนี้คือความสุขจากการที่เรามีสมาธิ เกิดจากการทำสมาธิ
ความสุขระดับที่ 4 เนี่ย เขาเรียกว่าวิมุตติสุข คือความสุขจากการที่จิตใจมันเป็นอิสระจากการติดอยู่ในบ่วงของทุกข์ ความสุขระดับนี้ แม้คนปฏิบัติก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเคยรู้สึก หรือสัมผัสได้ หรือว่าเราอาจจะเคยสัมผัสได้แล้ว นิดนึง แล้วมันก็หายไป มันไม่อยู่กับเรา การปฏิบัติธรรม การภาวนาที่แท้จริงแล้ว ต้องการที่จะให้เราเข้ามาถึงระดับความสุขอันนี้ คือความสุขจากการหลุดออกจากทุกข์
ถ้าเราลองไปนึกถึงเรื่องราวของหลวงพ่อเทียนนะ เราจะเคยได้ยินหลวงพ่อเทียนเล่าว่า ตอนที่ท่านบวชมาเนี่ย ครั้งก่อน ๆ ก่อนที่ท่าน จะบวชเนี่ยสมัยเป็นฆราวาส ท่านเคยปฏิบัติธรรม เคยฝึกสมาธิ มีความตั้งมั่น ซึ่งเรากำลังพูดถึงความสุขจากสมาธิเนี่ย ท่านเคยได้มาแล้ว ตั้งนานแล้วนะ 20-30 ปี นั่งสมาธิตัวแข็งเลย 10 ชั่วโมงก็นั่งได้ มีปิติ มีความสุขมากมายเลย แต่พอออกจากสมาธิแล้ว จากอารมณ์สมถะเนี่ย พอมาเจอชีวิตจริง พอมาสัมพันธ์กับผู้คน ความโกรธก็ยังครอบงำจิตใจได้อยู่ ความหงุดหงิด ความไม่พอใจ ความอยากได้สิ่งอื่นก็ยังครอบงำจิตใจได้อยู่ คือมันยังไม่หลุดพ้นจากบ่วงของความหลงในโลกมายาที่เราสร้างขึ้นมาเนี่ย
เพราะฉะนั้นความสุขจากสมาธิเนี่ย มันยังไม่พอ มันยังไม่ใช่ที่สุดของความทุกข์ จนกระทั่งท่านไปปฏิบัติธรรม แล้วเกิดความเข้าใจที่มันเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง ในตอนที่ท่านออกจากบ้านไปก่อนที่จะบวชอีกนะ ความเข้าใจแบบนั้นน่ะ เราจะเริ่มเข้าใจ ว่าจริง ๆ แล้ว ชีวิตของคนเนี่ย ที่สุดของสิ่งที่เราต้องการจริง ๆ แล้วเนี่ย เราต้องการความสุขที่มันไม่เปลี่ยนแปลงอีกแล้ว มันไม่พังลงไปอีกแล้ว มันไม่โดนครอบงำอีกแล้ว ซึ่งความสุขแบบนี้ เป็นความสุขที่เราจะไม่เคยเจอในชีวิตตามปกติ เป็นความสุขที่เขาเรียกว่าวิมุตติสุข คือ ความสุขจากการหลุดออกจากการเป็นทาสของความทุกข์ แล้วจริง ๆ แล้วเนี่ย มันนำไปสู่การที่เรารู้ว่า อ๊อ เราเป็นหนึ่งเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่าง ความเป็นตัวตนเรา ที่เรารู้สึกว่าเรายึดไว้อย่างยิ่ง มันสลายลงไป แล้วถ้าเราไปเฝ้าดูนะ จริง ๆ แล้วทุกศาสนา สิ่งที่เรียกว่าศาสนาเนี่ย ถ้าเขานำพาคนไปถึงปลายทางได้จริง ๆ น่ะ มันจะต้องเลยจากความสุขของสมาธิ เข้ามาสู่ความสุขแบบนี้ ความสุขจากการหลุดออกจากความทุกข์
ซึ่งการทำความสุขแบบนี้ให้มันเกิดขึ้นในชีวิตเราได้ มันมีกระบวนการฝึกให้เกิดขึ้นได้จริงในพุทธศาสนา คือ สิ่งที่เรียกว่าการทำ การปฏิบัติ การเจริญสติ การทำวิปัสสนานี่แหละ
กระบวนการในการที่จะฝึกให้จิตใจสามารถออกจากความทุกข์ได้เนี่ย คือ การศึกษาความทุกข์ จริง ๆ แล้ว กระบวนการอื่น ๆ ในตอนแรกเนี่ย ความสุขแบบแรกจากผัสสะเนี่ย เราแสวงหาความสุขจากการพยายามจะโกยความสุขเข้ามาให้ได้เยอะที่สุด แล้ววิ่งหนีความทุกข์ นึกออกไหม การเรียนรู้ผัสสะเนี่ย เราต้องการจะได้แต่ของดี และต้องการจะหนีของไม่ดี ซึ่งจริง ๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่มันจะไม่เกิดขึ้นจริงอย่างถาวร
กระบวนการในการเรียนรู้ชีวิตเนี่ย พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้บอกว่า เวลาเราเจอความทุกข์ให้เราหนีความทุกข์ แล้วก็โกยแต่ความสุข แต่ท่านบอกว่า ทุกข์เนี่ย เป็นสิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่แปลกจากสิ่งที่เราจะทำในชีวิตปกติ ดังนั้นเส้นทางของพระพุทธเจ้าที่ท่านพาฝึกเนี่ย จริง ๆ แล้วหลาย ๆ ครั้ง เราจะได้ยินว่า ให้เราทวนกระแส เคยได้ยินไหม ให้เราทวนสิ่งที่เราต้องการจะหนีนั่นแหละ เราเกลียดอะไร ลองไปศึกษามันว่า ทำไมเราถึงเกลียดสิ่งนี้ ด้วยการหันกลับไปเรียนรู้มัน หันกลับไปดูว่า สิ่งที่เราไม่ชอบอันนี้ ผัสสะที่เราไม่ชอบอันนี้ อาการที่เกิดกับเรามันคืออะไร ซึ่งปกติแล้ว เราจะไม่ค่อยทำแบบนี้ เราจะไม่หันมาศึกษาตัวเองในทิศทางนี้
เพราะฉะนั้นเวลาเราศึกษาแบบนี้ ท่านเลยมีกระบวนการให้เราเรียนรู้ว่า สิ่งที่เธอต้องทำ
เธอต้องฝึกให้จิตใจมีความตั้งมั่น
แล้วก็มีสติในการเฝ้าสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง หรือว่าทุกข์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงนี้ เพื่อที่เราจะได้เข้าใจว่า อ๋อ สิ่งนี้แหละคือทำให้เรายึดติดในมัน
ความทุกข์เราเกิดขึ้นเพราะว่า
เราไปสัมพันธ์กับสิ่งนี้ด้วยความหลง
ด้วยความอยากได้มันไว้
ไม่เชื่อว่าสิ่งนี้มันจะต้องสูญสลายไปตามธรรมชาติของมัน
แล้วก็คาดหวังว่ามันจะอยู่กับเราไปตลอด
ความผิดหวังต่าง ๆ ในชีวิตเนี่ย เกิดขึ้นจากการที่เราสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ อย่างผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง
ดังนั้นวิธีการฝึกในพุทธศาสนาเนี่ย ซึ่งเวลา เราพูดถึงความสุข 4 ระดับที่อาตมาพูดเมื่อกี้ อย่างแรกคือผัสสะ อย่างที่ 2 คือกุศล 2 สิ่งนี้เป็นสิ่งที่จะมาเป็นบันได ให้เราฝึกสิ่งที่เราต้องการจะเรียนรู้จริง ๆ คือ 2 ข้อหลัก คือ ให้เกิดสมาธิและให้เกิดการเห็นแจ้ง เพื่อนำไปสู่การหลุดพ้น ความสุขแบบที่ 3 กับแบบที่ 4 เนี่ย จะตามมากับคนที่มีการฝึกฝนภาวนา นะ
ถ้าจะเรียกง่าย ๆ นะ ความสุขแบบที่ 3 จากสมาธิเนี่ย บางทีเขาจะเรียกมันว่าการฝึก การทำจิตให้มีความตั้งมั่น ให้มีความสงบ
เรามักจะได้ยินคำอีกคำหนึ่ง ที่เรียกว่าทำสมถะ ไม่ได้ทำให้เกิดความเข้าใจที่ลึก แต่ทำให้เกิดสภาวะที่ตื่น สภาวะที่สบาย มีความตั้งมั่น อันนี้ การฝึกให้เกิดสมาธิแบบนี้ มีมาก่อนพุทธศาสนา และถ้าเราไปไล่ดูนะ ทุกศาสนาจะมีกระบวนการบางอย่างเพื่อฝึกให้จิตใจมีความตั้งมั่น บางที่เขาก็ใช้การฝึก ดูลมหายใจนี้มาก่อนพระพุทธเจ้านะ ดูลมหายใจจนมีความตั้งมั่น ตั้งมั่นจนกระทั่งเข้าสู่สมาธิที่บางทีเขาเรียกว่า เข้าฌาน มีมาก่อนพระพุทธเจ้า เจ้าชายสิทธัตถะก็ไปฝึกสมาธิแบบนี้ เกิดความสุขอย่างยิ่งใหญ่ เกิดความปีติ ความตั้งมั่น สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องกินอะไรก็ได้ มันมีความลึกมาก สมาธิแบบนี้ แต่สมาธิแบบนี้ไม่นำไปสู่ความสุขระดับที่ 4 คือความสุขจากการมีจิตที่มันหลุดพ้นจากความทุกข์ พอย้อนกลับคืนมาสู่ความปกติ ออกจากสมาธิเมื่อไหร่ ความทุกข์ก็ยังจะยังคงมีอยู่
คนที่มีปัญญาจริง ๆ ก็เลยจะเห็นว่า มันมีสิ่งที่มันละเอียดกว่านี้ มันมีความทุกข์อยู่ ความสุขที่แท้จริงยังไม่ใช่สิ่งนี้ พระพุทธเจ้าในตอนนั้นเนี่ย เจ้าชายสิทธัตถะ ก็เลยออกไปแสวงหาสิ่งใหม่ และท่านก็พบว่า ในบรรดาการเรียนรู้ทั้งหมดเนี่ย ความสุขทั้งหมดที่มันจะสามารถไปถึงได้ มันไปถึงแค่ระดับ 3 แค่นั้นเอง มันไม่ไปถึงระดับที่เรียกว่าวิมุตติสุข ซึ่งตอนนั้นท่านก็ไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร
ทีนี้สิ่งที่แปลกไปจากการฝึกในแบบก่อน ๆ ที่มีมาเนี่ย สิ่งที่ปรากฏขึ้นมาเด่นชัดในพระพุทธศาสนา จริง ๆ แล้วมันคือสิ่งที่เรียกว่าการเจริญสติ พระพุทธเจ้าท่านสอน การเจริญสติไม่ใช่การหลีกหนีปรากฏการณ์ แต่เป็นการหันกลับมาศึกษาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง โดยมีจิตใจที่มันมีความมั่นคงจากการฝึกสมาธิเนี่ย เป็นต้นทางในการที่เราจะสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้น
การเจริญสติเนี่ย ในพระสูตร เราก็จะคุ้นเคยกันในสายเราว่า เรามักจะเอามาสวด พระสูตรที่บอกวิธีการว่าเราจะต้องฝึกสติอย่างไรเนี่ย คือพระสูตรที่ชื่อว่ามหาสติปัฏฐานสูตร จริง ๆ แล้วความรู้สึกตัวนี่แหละคือสิ่งที่เรียกว่าสติ ความสุขในระดับที่ 4 เนี่ย จะเกิดขึ้นได้จากการที่เราฝึกทำความรู้สึกตัว โดยที่เราไม่บังคับ ไม่กดข่ม ไม่บีบให้มันต้องอยู่นิ่ง ๆ แบบสมาธิแบบที่ 3
การฝึกเพื่อให้เกิดการรู้แจ้งเนี่ย คือการฝึกให้เราเกิดความตั้งมั่นและดำรงอยู่กับสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง โดยการเป็นผู้เฝ้าดู เป็นผู้เห็นสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้น แล้วเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง ไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงมันเพื่อให้เป็นอย่างที่เราต้องการ เพราะฉะนั้นพระสูตรที่พระพุทธเจ้าสอนในเรื่องนี้ ก็คือมหาสติปัฏฐานสูตร อาตมาจะสรุปสั้น ๆ นะว่า สุดท้ายแล้วท่านบอกว่า ให้เธอเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในฐานทั้ง 4 เนี่ย มีเรื่องของกาย มีเรื่องของเวทนา มีเรื่องของจิต มีเรื่องของธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้น การฝึกเนี่ยให้เราระลึกรู้ในสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ มันเป็นอยู่อย่างไร ก็ให้รับรู้มันอย่างที่มันเป็น แล้วถ้าเกิดจะแยกออกมาให้มันง่ายก็คือใน 4 ฐานของสติปัฏฐานสูตรอันนี้ ฐานที่ตั้งของการฝึกสติทั้ง 4 อันนี้
ถ้าจะแยกให้ง่ายนะ จริง ๆ แล้วมันมีอยู่ 2 ส่วนใหญ่ ๆ ก็คือให้ระลึกรู้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกาย และสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิตใจ ถ้าจะแบ่งให้ง่าย ๆ นะ เพราะฉะนั้นเราจะพบว่า ทุกอย่างที่เราจะฝึกระลึกรู้เนี่ย อย่าให้มันเกินกายเกินใจเรา การไประลึกรู้สิ่งอื่น ๆ ก็จะได้ความเข้าใจบางอย่าง แต่จะไม่ได้ความเข้าใจเกี่ยวกับกายกับใจเรา เพราะฉะนั้นในการฝึกเนี่ย โดยเฉพาะวิธีการที่เราฝึกแบบหลวงพ่อเทียน หรือแบบที่พระอาจารย์กระสินธุ์สอน เพื่อให้เราสังเกต อาการที่เกิดขึ้นกับผัสสะของเราเนี่ย สังเกตไหม ว่ามันเป็นเรื่องทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับกายกับใจเรา และสิ่งนี้ สิ่งที่ให้ทำจริง ๆ แล้วเนี่ย อาจารย์จะบอกตลอดใช่ไหมว่าให้รู้ ก็รู้เฉย ๆ รู้เป็นทีละขณะ ขณะ แค่รู้จักมันเท่านั้นเอง มันเกิดอย่างไรก็รู้ตามที่มันเป็นอย่างนั้นแหละ เราไม่ได้เป็นผู้เข้าไปจัดการมัน เราไม่ได้เป็นผู้เข้าไปแสดง ไม่ได้เป็นผู้เข้าไปตัดสิน แต่เป็นผู้ที่เข้าไปรับรู้ เข้าไปสังเกต
การทำการสังเกตแบบนี้ให้มันมั่นคง ให้มันต่อเนื่อง ให้มันมีความตั้งมั่นเนี่ย อันนี้ คือการทำให้เกิดความมีสมาธิ ซึ่งในพุทธศาสนาเขาจะเรียกสมาธิแบบนี้ว่าการมีสัมมาสมาธิ คือมีความตั้งมั่น ที่เกิดจากการฝึกสติ ไม่ใช่ความตั้งมั่นที่เกิดจากการกดข่ม ความตั้งมั่นที่เกิดจากการกดข่ม เนี่ย จะนำไปสู่ความสุขมากสุด ก็เป็นความสุขระดับที่ 3 ที่พูดถึงว่า ความสุขที่เกิดจากสมาธิ หรือสภาวะที่เกิดจากสมาธิ มันจะเกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้นในกระบวนการของ ในการสังเกต ในการเห็นได้ แต่ถ้าเรามีแต่ความกดข่ม มีความตั้งมั่นอย่างเดียวเนี่ย สมาธิอย่างนี้ยังไม่ใช่สมาธิที่ถูกต้อง สมาธิที่ถูกต้องนี้ จะเกิดจากการที่เรามีความตั้งมั่นในการมีสติ
เราต้องแยกให้ออกนะ คำว่าสมาธิเนี่ยไม่ได้แปลว่านั่งเฉย ๆ หรือไม่ได้แปลว่า ไม่ใช่ว่าสมาธิทุกอย่างจะถูกต้องในการออกจากทุกข์นะ สมาธิเนี่ยแปลว่าความตั้งมั่น อย่างเช่นเราไปเตะบอลอย่างนี้ ถ้าเรามีสมาธิในการเตะบอล เราก็เรียกว่ามีสมาธินะ เวลาเราเล่นดนตรี ทำกับข้าวแล้วเราไม่วอกแวกไปที่อื่น เราก็มีสมาธิกับสิ่งนั้นนะ ทุกคนมีสมาธิในระดับที่ต่าง ๆ กัน แต่ทุกคนมีสมาธิอยู่เสมอ (ฟังไม่ชัด) คนเรียนหนังสือได้เก่ง ก็ต้องมีสมาธิในการเรียน
เพราะฉะนั้นสมาธิเนี่ยมีหลากหลาย แต่สมาธิเนี่ย หลากหลายรูปแบบ ไม่ได้ทำให้เกิดความเข้าใจชีวิตที่ลึกซึ้งขึ้น สมาธิที่จะนำไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้นเนี่ย คือสมาธิที่เกิดจากการที่เรามีสติที่ตั้งมั่น มีความระลึกรู้ รู้สึกตัวที่มีความตั้งมั่น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราฝึกในการเจริญสติเนี่ย ก็คือการทำให้เกิดสัมมาสมาธินี่แหละ ทำให้เกิดความตั้งมั่นของการระลึกรู้ตัว การมีความรู้สึกตัวที่ตั้งมั่น
การรู้สึกตัวที่ตั้งมั่นนี้ จะทำให้เราเห็นว่า ชีวิตเราเนี่ย จริง ๆ แล้วมันเต็มไปด้วยความทุกข์ ไม่ใช่ว่าเรามองโลกในแง่ร้าย แต่เราจะเห็นตามความเป็นจริงว่า อ๋อ ความสุขที่เราแสวงหาแบบที่ 1 ความสุขจากผัสสะที่เราโหยหาทั้งชีวิตเนี่ย มันมาแล้วมันก็ไปนี่ มันมาแล้วเราก็ควบคุมให้มันอยู่กับเราไม่ได้ มันมาเท่าไหร่เราก็ไม่รู้สึกเต็มสักที แต่จังหวะที่เราไม่สังเกต เราจะหลงตามมันไปเรื่อย ๆ ตามมันไปเรื่อย ๆ และคิดว่านั่นคือทั้งหมดของชีวิต เพราะฉะนั้นเวลาเราฝึกสติเนี่ย เราจะเริ่มแงะชีวิตตัวเองออก จะเริ่มเห็นว่าเราทำสิ่งนี้ เราตอบสนองกับคำพูดที่ทำให้เราไม่พอใจด้วยการที่เราตอบสนองแบบนี้ เราจะเริ่มเห็นอุปนิสัย เห็นสันดาน เห็นความอยาก เห็นความเกลียดชัง เห็นแง่ดี แง่ไม่ดีของเราทั้งหมดเลย มันเหมือนเป็นการเปิดโปงตัวเองขึ้นมาให้เราได้รับรู้
ดังนั้นการฝึกสติเนี่ย จึงเป็นรากฐานของการฝึกให้เกิดความสุขระดับที่ 4 คือวิมุตติสุข คือความหลุดพ้น กำลังของการสังเกตอันนี้ เป็นสิ่งที่เราจะพัฒนาขึ้น ดังนั้นไอ้ที่เราฝึกกับพระอาจารย์กระสินธุ์ว่า ท่านบอกว่าให้เราฝึกทำความรู้ตัวนะ ทำเรื่องเล็ก ๆ นะ รู้ทีละขณะนะ มันเหมือนเป็นเรื่องเล็ก ๆ นะ แต่พอมันหลอมรวมกันกลายเป็นความตั้งมั่นขึ้นมาเนี่ย ทิศทางที่มันดูคือตัวเองเนี่ย มันจะทำให้เราเกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้นกับตัวเอง เราจะเริ่มเห็นกลโกง ความน่าเกลียดน่ากลัวของตัวเอง ความพอใจความไม่พอใจของตัวเอง เห็นความโกรธ เห็นความโลภ เห็นความหลง เห็นกระบวนการปรุงแต่งของตัวเอง เพราะฉะนั้นการฝึกเนี่ย คือฝึกทำความรู้สึกตัวให้ต่อเนื่อง เวลาที่เราฝึกทำความรู้สึกตัวให้ต่อเนื่องเนี่ย ถ้าเกิดว่าเราไม่มีเครื่องมืออะไรเลย มันจะทำให้เกิดขึ้นได้ลำบาก เกิดขึ้นได้ไหม ได้ แต่ลำบาก
ดังนั้นเราจึงมีกระบวนการในการสร้างรูปแบบบางอย่างขึ้นมา เพื่อให้เราฝึกทำความรู้สึกตัว อันนี้ ให้มันต่อเนื่องได้จริง ๆ เราก็เลยมีรูปแบบในการฝึก วิธีการที่เราฝึกในสายปฏิบัติที่เราคุ้นเคยกัน ในสายหลวงพ่อเทียนเนี่ย ก็คือการตั้งใจสร้างการเคลื่อนไหว เกิดขึ้นเป็นรูปแบบของการยกมือสร้างจังหวะ เหตุผลที่เรายกมือ สร้างจังหวะ เพื่อที่จะให้เกิดการโอกาสในการระลึกรู้ได้บ่อย ๆ ทุกครั้งที่เราขยับหนึ่งขณะเนี่ย แต่ละขณะเนี่ย เราตั้งใจจะรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวแต่ละขณะ แต่ละขณะ แล้วพอมันต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ เนี่ย ความเคลื่อนไหวแล้วเรารู้เนี่ย มันจะเป็นตัวที่ทำให้เกิดการพัฒนาความตั้งมั่นของสติ
วิธีการหลวงพ่อเทียนจึงเป็นวิธีการง่าย ๆ การเคลื่อนไหว การระลึกรู้เนี่ย เป็นวิธีการง่าย ๆ ที่นำไปสู่การพัฒนาสิ่งที่ถูกต้องในการจะหลุดพ้น พัฒนาความรู้สึกตัว เพื่อให้เกิดความตั้งมั่น จนความตั้งมั่นนั้น สามารถย้อนกลับมาเรียนรู้สิ่งที่เราเรียกว่าทุกข์ได้ตามความเป็นจริง ด้วยใจที่มีความตั้งมั่น แล้วก็ดูอย่างใจที่มีความเป็นกลาง
นอกจากการยกมือสร้างจังหวะแล้ว ใช่ไหม เวลาเราไปเดินจงกรม การเดินจงกรมก็เป็นการกระตุ้นให้เกิดโอกาสในการที่เราจะระลึกรู้อยู่กับปัจจุบันได้อีกเหมือนกัน และถ้าเราทำการเดินจงกรมกับการยกมือสร้างจังหวะ สลับกัน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เพื่อเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถของร่างกายเนี่ย แต่สิ่งที่เราฝึกเนี่ย มันจะไม่ต่างกันเลย สิ่งที่เราฝึกก็คือ ระลึกรู้ความจริงที่เกิดขึ้นกับกายกับใจเราเหมือนเดิม ไม่ว่ากายกับใจเรา ความจริงตอนนั้นจะยกมือ หรือว่ากายกับใจเรา ความจริงตอนนั้นเราจะเดินจงกรม หรือว่าความจริงของกายกับใจตอนนั้น คือ ดูลมหายใจ หรือว่าเล่นกีฬา หรือว่าทำงานบ้าน หรือว่าล้างจาน อย่างถ้าเกิดว่าเราย้อนกลับมาว่า ตอนนั้นเรากำลังทำอะไรอยู่ แล้วเราสามารถกลับมาสู่การระลึกรู้ว่า อ้อ ตอนนี้กำลังทำสิ่งนี้อยู่ อาการตอนนี้ ร่างกายกำลังเป็นแบบนี้ จิตใจกำลังเป็นแบบนี้ ถ้าเราย้อยกลับมาสังเกตกายกับใจที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันได้เมื่อไหร่นะ จริง ๆ แล้วเรากำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง ตรงตามพระมหาสติปัฏฐานสูตรเป๊ะเลย
แล้วสิ่งนี้จะนำไปสู่ความสุขแห่งการหลุดพ้นจากความทุกข์ คือความสุขที่ละเอียดที่สุดในระดับที่ 4 ที่เราพูดถึงนี้ได้
เวลาที่เราฝึกเนี่ย ส่วนหนึ่งที่ คนที่ฝึกกับพระอาจารย์กระสินธุ์จะคุ้นเคยก็คือ พระอาจารย์มักจะแนะนำให้เราฝึกสังเกตผัสสะใช่ไหม ผัสสะนี้ Concept เดิม ก็คือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับกายกับใจเราในแต่ละขณะในปัจจุบัน ดังนั้นเวลาที่เราสังเกตและรับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากผัสสะนี้ เราก็จะยังอยู่ในเส้นทาง ยังไม่หลุดไปไหนเลย และถ้าเราไปดูในสติปัฏฐานสูตร เรื่องของผัสสะจะอยู่ในหมวดสุดท้าย หมวดธรรมารมณ์ ท่านก็จะแยกไว้ว่า เวลาที่มันเกิดการกระทบทางตา แล้วเกิดความพอใจ เกิดความยึด เกิดความอยากเกิดขึ้น ให้เรารู้ทัน ว่าอาการเหล่านี้เกิดขึ้น เกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นี่แหละ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำเนี่ย ในการฝึกด้วยกันนี่นะ เริ่มต้น ความสุขจากผัสสะ เรารู้จักอยู่แล้ว อย่างที่ 2 ความสุขที่เกิดจากจิตที่เป็นกุศลในการที่เราจะมีจิตใจที่มันชุ่มชื่น มันโอบอ้อมอารี มันเต็มไปด้วยความรักความเมตตาเนี่ย มันจะเป็นพื้นฐานที่ทำให้ชีวิตเราพร้อมที่จะเดินไปสู่ความสุขที่มันลึกขึ้นกว่านี้ หรือออกจากความทุกข์ที่มันละเอียดกว่านี้
ทุกอย่างมันจะไปด้วยกันหมดเลย ไม่จำเป็นว่าจะต้องเอาแค่อันใดอันเดียว ทิศทางทางแห่งจิตที่มันนำไปสู่กุศลเนี่ย มันจะไปในทิศทางเดียวกัน เสร็จแล้วเราหัดฝึกทำให้เกิดมีความตั้งมั่นให้ได้ แล้วโยมจะพบความสุขที่เกิดจากการมีความมีสมาธิ และทำสิ่งนี้ให้มันต่อเนื่อง จนกระทั่งมันเกิดความเห็นแจ้งขึ้นมาให้ได้ แล้วมันจะนำไปสู่ความสุขระดับสุดท้าย ความสุขที่เกิดจากจิตที่เป็นอิสระ
เอ้า อธิบายเพิ่มนิดนึง ทีนี้ความการฝึกเจริญสติเนี่ย สิ่งหนึ่งที่ไม่เหมือนกับการฝึกให้เกิดสมาธิอย่างเดียว การฝึกให้เกิดสมาธิเนี่ย เราต้องการจะควบคุมมากกว่าสังเกต แต่ในการฝึกเจริญสติเนี่ย เราต้องการที่จะสังเกตมากกว่าการควบคุม ต่างกันตรงนี้นะ เมื่อไหร่ก็ตาม ที่เราตั้งใจจะควบคุม บังคับ เปลี่ยนแปลง ตอนนั้นเนี่ย เราเข้าไปสัมพันธ์กับสิ่งที่เราต้องการจะดูมากเกินไปแล้ว สิ่งที่เราต้องการจริง ๆ แล้วเนี่ย คือเราต้องการที่จะเห็นว่า โดยธรรมชาติแล้วเนี่ย มันเกิดอะไรขึ้น
แต่เริ่มต้นนะ เราก็จะไม่สามารถที่จะดูทุกสิ่งทุกอย่างแบบเป็นผู้ดูอย่างเดียวได้หรอก ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องกังวลว่าเราจะทำ เราจะต้องทำให้มันเป๊ะมาก ๆ ถึงจะใช่ มันจะไม่ใช่ ในตอนแรกมันจะไม่ใช่
ตอนอาตมาเริ่มฝึก อาตมาก็ตะบี้ตะบัน ตั้งใจ ทำด้วยความเจตนา ทำด้วยความอยากด้วยซ้ำ ทำอยู่ตั้งนานนะ การปฏิบัติธรรมเริ่มต้นเนี่ย ทุกคน ทุกคนจะต้องทำไม่ถูกก่อน ทำด้วยการอยาก ทำด้วยการอยากได้ผล อยากจะรู้ธรรมะเร็ว ๆ บังคับบ้าง หลีกหนีบ้าง ซึ่งเป็นปกติ ไม่มีใครเพอร์เฟคตั้งแต่ต้น แล้วเราต้องเรียนรู้ว่า อาการแบบนี้ นี่แหละคือวิธีการหนีของเรา อาการแบบนี้ นี่แหละคือวิธีการเข้าไปยึด หรือเข้าไปทำด้วยความอยากของเรา แล้วเราจะค่อย ๆ ปรับ ให้มันค่อย ๆ ละเอียดขึ้น ๆ
มันเหมือนกันการสร้างบ้านนะโยม ช่วงแรก ๆ เนี่ย เรายังไม่ได้เข้าไปตกแต่งรายละเอียดของบ้านนะตอนที่เรายังไม่ได้สร้าง เริ่มต้นมันต้องเริ่มจากงานหนัก ๆ ก่อน มันจะหยาบก่อน ขุดดิน เกลี่ยพื้นที่ ลงเสา นะ แบกปูน หาบของ ทำสิ่งที่มันหนัก ๆ ก่อน ทำคานก่อน สร้างกำแพง ยกประตูมาประกอบ ทำแต่สิ่งที่มันเห็นชัด ๆ ก่อน เริ่มต้นเนี่ย ทำจากของหยาบ แต่พอเราทำไปเรื่อย ๆ เราจะเริ่มพบว่า โอ๊ย ทำหยาบ ๆ อย่างนี้นี้ แค่นั้นเนี่ย เริ่มไม่ได้แล้ว เราจะเริ่มสังเกตเห็นว่า อ้อ พอมีกำแพงแล้วนะ บ้านตั้งมั่นแล้วนะ ต่อไปเราอาจจะต้อง เราอาจจะเริ่มทำพื้น เริ่มทาสี สุดท้ายเราเริ่มเอาเฟอร์นิเจอร์ เอาอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เริ่มเอาไปทำให้มันละเอียดขึ้น
การปฏิบัติธรรมก็จะมีลักษณะคล้าย ๆ กัน คือเริ่มต้น โยมไม่ต้องเอาเป๊ะหรอก เดี๋ยวมันจะได้ไปเกลี่ย มันจะได้ไปทำ มันจะได้ไปเก็บรายละเอียดในตอนท้าย ๆ อยู่ดี ไม่ต้องกลัว แต่ในตอนเริ่มต้น ขอให้ตั้งไข่ให้ได้ ตั้งต้นให้มันมั่นคงให้ได้ มั่นคงคือ เริ่มต้นเนี่ย อาจจะตั้งใจทำในรูปแบบเยอะหน่อย เพื่อฟอร์มโครงสร้างของบ้านหลังนี้ให้มันมั่นคงก่อน ดังนั้นการทำต้น ๆ เนี่ย การยกมือสร้างจังหวะ การเดินจงกรมในรูปแบบนี้ จำเป็น มีความสำคัญ ต้องทำ และเวลาทำเนี่ย ให้ทำด้วยความรู้สึกสบาย ๆ ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องอยากได้ผล แต่ตอนต้น ๆ เนี่ย ไม่ต้องกลัว ทำด้วยความตั้งใจสักหน่อยก็ได้ ไม่เป็นไรหรอก
ตอนอาตมาเริ่มต้นใหม่ ๆ อาตมาฝึกกับหลวงตาสุริยา หลวงตาสุริยาเป็นอาจารย์ของอาตมาตอนต้น ๆ นะท่านบอกว่าทำไปเลย ตะบี้ตะบันทำไปก่อน มันยังไม่ได้ความสุข มันยังไม่ได้ทำด้วยใจเป็นกลาง มันยังไม่ใช่การมีสติที่ถูกต้องหรอก แต่เริ่มต้นเนี่ย เธอต้องฝึกให้เกิดความอดทน ต้องฝึกให้เกิดสมาธิให้ได้ สมาธิแบบที่ 3 เนี่ย สมาธิที่เกิดจากการทำสมาธิสมถะเนี่ย มันจะต้องเกิดขึ้นก่อน แล้วมันจะมีกำลัง พอมีกำลังแบบนี้ จิตใจของเรามันจะมีความตั้งใจมากขึ้น มันจะรู้สึกได้เลยว่า อ๋อ มันมีความสุข มันมีความแปลกชีวิต ที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน แล้วมันจะมีกำลังใจที่จะฝึกต่อ
เพราะฉะนั้นตอนต้นนะ ใครที่มาเริ่มฝึกยังไม่นานเนี่ย โยมไม่ต้องกลัวว่าจะทำไม่ถูก เพราะว่ามันจะทำไม่ถูก มันจะทำไม่ถูกตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เป็นเรื่องปกติ แต่ว่าให้เราทำไปก่อน แต่ให้เรารู้หลักการมัน ว่าจริง ๆ แล้วเราต้องการที่จะทำให้เกิดความรู้สึกตัวแบบเป็นกลาง ๆ ให้ได้ ทำด้วยความอยากบ้างเล็กน้อยไม่เป็นไรหรอก แต่ขอให้เริ่มต้นทำก่อน แล้วมันจะค่อย ๆ ปรับไปเอง ตอนอาตมาไปเริ่มทำเนี่ย อาตมาก็รู้ว่า ตอนต้นเนี่ย อาตมาก็ทำด้วยความอยากล้วน ๆ เลยนะ อยากคืออะไร คืออยากจะให้รู้สึก เดินจงกรมก็อยากจะรู้สึกทุกก้าวให้ได้ มันยังไม่เป็นกลางหรอก แต่ทำไปก่อน พอทำไปสักพักหนึ่งเนี่ย หลาย ๆ วัน ทำให้มันต่อเนื่อง เมื่อยก็ทำ ขี้เกียจก็ทำ
ทำไปเรื่อย ๆ จนจังหวะหนึ่ง มันเกิดการรู้สึกว่า อยู่ดี ๆ มันมีความตั้งมั่นขึ้นมา พลิกพรึบ!พอมันมีสมาธิขึ้นมาเนี่ย โดยอัตโนมัติเลย อยู่ดี ๆ ใจมันจะถอยออกมานิดนึง แล้วมันจะรู้สึกว่า อ๋อ จริง ๆ ไม่ต้องทำเยอะแบบนั้นก็ได้ แค่นี้คือพอดี ใจมันเรียนจะเรียนรู้ตัวเอง หลาย ๆ คนอาจจะเป็นว่า พอมันมีความตั้งมั่นขึ้นมา เออ มันไม่ต้องทำมากเท่าตอนแรกก็ได้ ทำนิดเดียวมันก็รู้สึก ซึ่งจริง ๆ แล้วนะ ความรู้สึกตัวเนี่ย ไม่ต้องทำแรง ก็รู้สึก
ถ้าโยมอยากจะลองนะ ลองเล่นกันไหม เอ้า ไม่เห็นหน้าก็เล่นได้ โยมลองเอานิ้วนะ นิ้วชี้กับนิ้วโป้งนะ โยมลองมาแตะนิ้วชี้กับนิ้วโป้ง ให้มันมาแตะกันน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ให้มันโดนกันแค่นิดเดียวเอง ให้มันมาใกล้ ๆ กันนะ แล้วลองสังเกตว่า มันโดนกันตอนไหน ให้มันโดนกันเบาที่สุดเท่าที่จะทำได้ เบานิดเดียวเองนะ ไม่ต้องกดมัน แล้วรู้สึกได้ไหม เนี่ย ลองสังเกตดู
ความรู้สึกที่เบาบางที่สุดเลยนะ แต่เราใส่ใจเนี่ย มันจะรู้สึกได้ อย่างไรก็รู้สึก เพราะฉะนั้นลองสังเกตดูว่า แค่นี้ยังรู้สึกเลย แล้วเวลาที่เราทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตเราเนี่ย ขอแค่เราใส่ใจ เหมือนกับที่เราใส่ใจความรู้สึกของนิ้วชี้กับนิ้วโป้งเราเมื่อกี้ แค่เราใส่ใจนะ เราก็จะรับรู้มันได้ แล้วความรู้สึกแบบนี้ จริง ๆ แล้วมันจะละเอียดขึ้นไปเรื่อย ๆ มันจะเริ่มเห็นร่างกายตัวเองในมุมที่ละเอียดขึ้นไปเรื่อย ๆ มันจะเริ่มเห็นกระบวนการของความคิดตัวเอง ที่ละเอียดเข้าไปเรื่อย ๆ เช่นกัน ตัวสติอันนี้ เมื่อมันถูกพัฒนาขึ้น มันจะมีความละเอียด มันจะมีความว่องไว รวดเร็ว ชัดเจน ตั้งมั่น มั่นคง เนี่ย เป็นลักษณะของสติที่มันมีความพัฒนา พัฒนาจากการรู้ทีละขณะ บ่อย ๆ บ่อย ๆ บ่อย ๆ หลงไปก็ไม่เป็นไร ก็ทิ้งไปแล้วกลับมารู้ ตั้งต้นใหม่ หลงไปก็ทิ้งไป กลับมารู้ แล้วตั้งต้นใหม่
การฝึกแบบนี้ เริ่มต้นฝึกในการรู้ร่างกายจะง่ายที่สุด นะ แล้วก็ มันมีความตั้งมั่นแล้ว มันจะไปรู้อย่างอื่นเอง มันจะไปรู้ความคิด รู้อารมณ์ รู้ความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากความตั้งมั่นนี้ มันจะรู้ได้เอง แต่เริ่มต้น ขอให้เราฝึกทำความรู้สึกตัวให้บ่อย ๆ ทำให้มันต่อเนื่อง ต่อเนื่องนี่ไม่ใช่แค่เดินจงกรม หรือยกมือสร้างจังหวะอย่างเดียวนะ ในชีวิตประจำวัน ทำอะไรก็แล้ว แต่ให้เราเอาใจไปรับรู้มัน เหมือนที่เรารับรู้ความรู้สึกของนิ้วโป้งนิ้วชี้เมื่อกี้ แล้วโยมจะสามารถอยู่กับมันได้
แต่ว่าเวลาเรารู้สึกตัวเนี่ย มันจะไม่อยู่ตลอดเวลา เราต้องเข้าใจธรรมชาติว่า ความรู้สึกตัวนี้มันจะไม่ใช่สิ่งที่ยืดยาว แต่ลักษณะของมันคือ มันจะมีความเป็นขณะ ความเป็นครั้ง เป็นขณะ ๆ พระอาจารย์กระสินธุ์พูดตลอดใช่ไหม ให้รู้ทีละขณะ ท่านตั้งกลุ่มรู้ขณะเดียวใช่ไหม เพราะความจริง จริง ๆ แล้วเนี่ย มันเกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันมันสั้น ๆ เอง แต่มันเกิดตลอดเวลา มันเกิดถี่ยิบเลย เมื่อไหร่ก็ตามที่เรารับรู้ ตอนนั้นแหละคือปัจจุบัน แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราพยายามที่จะทำให้การรับรู้นั้นมันยาวกว่าที่มันเป็น จริง ๆ แล้วเรากำลังเอาอดีตมาผสมแล้ว
เพราะฉะนั้นเวลาที่เราฝึกนี้ รู้ทีละขณะ รู้แล้วก็ทิ้งไป รู้แล้วก็ทิ้งไป ความรู้สึกตัวทีละขณะนี้ ถ้าเรามองหยาบ ๆ เราจะรู้สึกว่ามันเหมือนเป็นเส้นตรง เป็นเส้นนะ แต่ถ้าเราเข้าไปดูความละเอียดของมัน เราจะรู้ว่า แต่ละขณะมันเป็นจุด มันเป็นจุดทีละขณะ ๆ ทีละขณะ แต่เมื่อไหร่ก็ตาม ที่เราฝึก จนจิตเรามันเริ่มละเอียดขึ้น ขณะพวกนี้จะเร็วมาก
ถ้าใครฝึกเล่นตัวกดกับพระอาจารย์เนี่ย หรือว่าดูความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับผัสสะเนี่ย ดูจริง ๆ แล้ว เราจะรู้ว่า ในแต่ละขณะเนี่ย มี ผัสสะเรามันไวมากเลย แป๊บเดียวเองมันเปลี่ยนไปรับรู้ตาบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง การยืน การนั่งบ้าง แล้วก็มาฟังอีก แล้วก็มาเห็นอีก โลกเรา จริง ๆ แล้วเนี่ย มันเกิดจากการหลอมรวมของความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากผัสสะพวกนี้ หลอมรวมขึ้นมาเป็นความรู้สึกว่า เราคือคนคนนี้ นั่งอยู่ตรงนี้ มองสิ่ง ๆ นี้ ได้ยินโลกเหล่านี้ จริง ๆ แล้วทุกอย่างมันเกิดขึ้นทีละนิดที ๆ เท่านั้นเอง แล้วมันก็มาหลอมรวมเป็นสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นโลกของเรา จริงๆ แล้วมันเป็นผัสสะที่ผสมกัน
เพราะฉะนั้น ฝึกสติบ่อย ๆ
บ่อย ๆ ไม่ใช่ทุกชั่วโมงนะ บ่อย ๆ คือบ่อย ๆ ทุก ๆ ขณะ แล้วก็ ถ้าเราไม่ทำในรูปแบบเลย จะลำบาก ต้องฝึกในรูปแบบด้วย ใครมีโอกาส อยู่บ้านก็เว้นช่วงเวลาสักหนึ่งชั่วโมงต่อวัน ตั้งใจที่จะแบ่งเวลานี้ เอาไว้ฝึกในรูปแบบ แล้วโยมจะพบอะไรอีกหลายอย่าง ที่มันพัฒนาขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ฝึกทำความรู้สึกตัวเป็นขณะ เป็นขณะ แล้วก็ทำด้วยความรู้สึกว่า ถ้าฉันอยากทำฉันก็จะทำ ถ้าฉันไม่อยากทำฉันก็จะทำ อย่าให้เราหลงไปกับอารมณ์ที่มันเป็นสิ่งที่มาพาให้เราเลิก อารมณ์อะไรเกิดขึ้น ความคิดอะไรเกิดขึ้น ให้เราสังเกตว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว รับรู้แล้วก็คลายไป รับรู้แล้วก็ไม่ต้องไปใส่ใจมัน แล้วเราจะพบว่า เราพัฒนาขึ้นได้ ความรู้สึกตัวเนี่ย เป็นสิ่งที่เริ่มต้น ไม่มีใครคุ้นหรอก แต่ทำไปสักพักหนึ่ง มันจะเริ่มตั้งมั่นขึ้นมา แล้วเราจะเริ่มเห็นอะไรหลาย ๆ อย่างในตัวเองมากขึ้น เห็นว่ามีปัญหากับอะไรมากขึ้น เราติดกับอะไรมากขึ้น เท่านี้ก่อนเนาะ
ช่องทางอื่นๆในการรับสื่อธรรมะ
YouTube, FaceBook พระอาจารย์กระสินธุ์
Podcast : รู้ขณะเดียว
ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านที่ติดตามรับฟัง..สาธุ
Comments (0)
To leave or reply to comments, please download free Podbean or
No Comments
To leave or reply to comments,
please download free Podbean App.