Episodes
Sunday Aug 30, 2020
ตัณหาพาทำ อุเบกขาพาเลิก พจ.กระสินธุ์ 230863
Sunday Aug 30, 2020
Sunday Aug 30, 2020
เจริญในธรรม สัมมาปฏิบัติทุกท่าน ที่ได้ตั้งใจลุกขึ้นมา ปรารภความเพียรร่วมกันในเช้าวันนี้ นับเป็นโอกาสของเรา ที่จะต้องทำให้ชีวิตชีวิตหนึ่งเดินควบคู่กันไป ทั้งฝ่ายทางโลกและฝ่ายทางธรรม เพราะคนส่วนใหญ่จะใช้ชีวิต เดินไปในทางฝ่ายทางโลกเป็นส่วนใหญ่ มุ่งหวังให้ได้ผลจากทางโลก มีทรัพย์สมบัติ ทรัพย์สินเงินทอง สุขภาพร่างกายแข็งแรง และก็มีความสุขกับกามคุณทั้งหลาย มีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรสเป็นต้น ที่เป็นสมบัติของโลก ที่เราเห็นได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย จนรู้สึกว่า นั่นคือสมบัติที่เราแสวงหาทั้งชีวิต จนลืมขวนขวายทางธรรม คือวิธีการหลุดพ้นจากทางโลก แต่ก็ต้องอยู่กับโลกใบนี้ จะมีพวกเราเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ที่พยายามตั้งใจขวนขวายที่จะฝึกฝนเพราะเห็นโทษภัยของสมบัติทางโลกแล้ว ที่มีผลเป็นความทุกข์ มีความทุกข์เป็นกำไร มีความไม่เที่ยงเป็นที่อยู่ และมีความแปรปรวนดับไป เป็นสมบัติ มันเหมือนไขว่คว้าได้ แต่ก็ไม่ได้อะไรเลย ฉะนั้นพวกเรา แม้แต่ทางโลกมันจะรุนแรงแค่ไหนก็ตาม ถ้าเรามีทางธรรมที่เป็นตัวคอยดักมาประคับประคองชีวิตไปด้วย ก็จะทำให้เราอยู่กับทางโลกได้อย่างไม่หลงโลก หรือบางครั้งอาจจะอยู่เสมอโลกและเหนือโลก เหนือทางโลกได้
ตราบใดก็ตาม จิตของพวกเรา ยังไม่สามารถเสพสุขจากการหลุดพ้นได้อย่างมีกำลังเต็มที่ ก็ต้องอาศัยกำลังของอินทรีย์ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิและปัญญา ที่จะมีอุปสรรคคือนิวรณ์ทั้ง 5 ค่อยดักขวางกั้นอยู่
ในเช้านี้อยากให้ข้อคิดความหมาย ของ 2 คำ เพื่อให้เราไปศึกษา ที่จะเผชิญกับโลกใบนี้ทางโลกและส่งเสริมทางธรรมให้เจริญขึ้น คำสองคำนี้คือความหมายของคำว่า ตัณหากับอุเบกขา มีลักษณะต่างกันอย่างไร ตัณหา จะพาทำ อุเบกขา จะพาเลิกทำ
ฉะนั้นชีวิตของตัณหานี่ จะพาทำ ทั้งที่สิ่งเหล่านี้มีอยู่แล้ว และเราก็ทำมันขึ้นมาอีก
อยากให้รู้ก่อนว่า ทางโลกก็มีการกระทำอยู่แล้ว แต่ความอยากของเราก็อยากจะทำเพิ่มขึ้นมาอีก เราต้องรู้จักก่อนว่าทางโลกมีการกระทำอยู่แล้วโดยธรรมชาติของธาตุ 4 เขามีการปรุงแต่ง ปรุงแต่งรูป ปรุงแต่งเสียง ปรุงแต่งกลิ่น ปรุงแต่งรส ปรุงแต่งสัมผัสในตัวของเขาอยู่แล้ว อยู่ตลอดเวลา เพราะนั่นคือ วัฏจักร วงเวียน ความเป็นไปของมัน ที่เขาต้องมีการปรับสมดุลกันอยู่เรื่อย ๆ โดยใช้ธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟปรุงแต่งเป็นรูป เสียง กลิ่น รส แล้วก็สัมผัสที่เกิดขึ้น อันนี้เป็นธรรมชาติเดิมแท้ แล้วก็สร้างเป็นอารมณ์ภายใน เขาเรียกว่า ลานธรรมที่คอยดักสร้างสรรค์ความคิดนึกและปรุงแต่งมากมาย ตัณหาพาทำ ทิฏฐิพาคิด อุเบกขาพาเลิก ที่เขาคอยดักสร้างเป็นอารมณ์พอใจ ไม่พอใจ หรืออารมณ์วุ่นวาย อารมณ์สับสนมากมาย สารพัดลักษณะรูปแบบที่จะเข้ามากระทบกับจิตใจเรา
เมื่อเขามากระทบแล้ว ถ้าจิตเขาทำหน้าที่ในการรับรู้ความเป็นไปของมัน มันก็จะทำให้เราไม่เข้าไปในอารมณ์ของโลก แต่เรียนรู้อารมณ์ของโลก จึงเป็นอุเบกขา แต่บางครั้งกำลังที่เราไม่ค่อยได้ฝึกฝน เราคุ้นชินกับอุปนิสัยเก่า จนกลายเป็นทิฐิคือความคิด เป็นการกระทำคือความอยาก เมื่อมีภาวะการปรุงแต่งของธาตุ 4 กับขันธ์ 5 เราก็อดที่จะสนองตอบด้วยตัณหาไม่ได้ ต้องทำต่อ ต้องเติมต่อ
ตัวอย่างเช่นบางครั้งความไม่พอใจก็คือความไม่พอใจ แต่ทำไมใจเราจึงต้องพยายามทำกับความไม่พอใจนั้นต่ออีกด้วย หรือบางครั้งความพอใจเกิดขึ้นซึ่งเป็นอารมณ์หนึ่ง แต่ตัวตัณหาก็จะพาทำต่อ ทำอย่างไรให้ความพอใจนี้เกิดกับเราอีก มีกับเราอีก เป็นกับเราอีก ไม่จบไม่สิ้น จนสร้างเป็นทิฏฐิ จนสร้างเป็นความคิด ว่าจะต้องทำแบบนี้เมื่อเกิดความพอใจ หรือต้องทำแบบนี้เมื่อเกิดความไม่พอใจ
แต่โดยหลักของธรรมชาติที่เขาปรุงแต่ง เดี๋ยวเขาก็สลายตัวไปตามกฎของเขา จะเป็นความพอใจก็ตาม ก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับ ไม่พอใจก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับ และความพอใจไม่พอใจนี้ ก็จะขยายผลมาจากการได้รับการปรุงแต่งของรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่เป็นกามคุณฝักฝ่ายในความชอบใจ เราก็พยายามขวนขวายที่จะสร้างให้เกิดจิตที่ไปพัวพันกับอารมณ์ทางโลกอยู่เรื่อย ๆ อยู่ร่ำไป การกิน การดู การฟัง การดม การสัมผัส ก็จะมีผลส่งต่อไปสู่การกระทำด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม
หรือบางครั้งเขาปรุงแต่งสิ่งที่เราเห็นแล้วไม่ชอบ ได้ยินแล้วไม่ชอบ ได้กลิ่นแล้วไม่ชอบ รับรสแล้วไม่ชอบ สัมผัสแล้วไม่ชอบ พอเขาสร้างความปรุงแต่งเป็นอารมณ์พอใจไม่พอใจ แล้วเราก็ เจ้าตัณหาสั่งให้เอากายกรรม วจีกรรม มโนกรรมเข้าไปทำต่อ จึงเป็นวัฏฏะ วังวน ที่เหมือนรู้สึกว่ามีความสุขบ้าง มีความทุกข์บ้างกับเรื่องของโลก ๆ แต่มันก็เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เราอยู่ในวังวนของความต้องการไม่เลิก จนกระทั่งสร้างเรื่องสร้างราว สร้างวิบากเยอะแยะมากมาย แล้วทั้งสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ก็ส่งผลต่อใจของเราเอง สะท้อนไปสู่ใจของคนอื่น แต่พอเราฝึก เราตั้งใจจะฝึก ที่จะละตัณหา คือการกระทำของเรา คือการฝึกหัดเปลี่ยนมโนกรรมเสีย คือเปลี่ยนใจที่คอยมุ่งสนองตอบการกระทำ มาสร้างเป็นอุเบกขา ที่เราฝึกฝนกันมา ที่ปฏิบัติกันมา
ในเบื้องต้น ที่เราใช้ก็คือการฝึกรับรู้มัน ฝึกตัวรู้ขึ้นมา เพื่อรับรู้การกระทำเหล่านี้ ที่ที่เป็นทางมโนกรรม ใช้ใจรับรู้เรื่องราวของการปรุงแต่งของโลกใบนี้อย่างซื่อ ๆ ตรง ๆ ตามที่มันเป็น แม้แต่เป็นความคิด ที่มันเป็นอารมณ์ทางใจมากระทบ ก็รับรู้มันตาม ว่ามันคือความคิด มันคือทิฐิ แต่เราจะสร้างอุเบกขาของเราในใจให้มากขึ้น เมื่อรับรู้แล้วเราก็จะไม่เอากายกรรม วจีกรรมไปทำตาม เพื่อรอจังหวะให้ใจเราเองได้มีโอกาสได้เรียนรู้และศึกษามัน อย่างที่มันเป็น อย่างที่มันทำ
เวลาเราฝึก เราต้องการฝึกอุเบกขาให้มาก ไม่ได้ฝึกตัณหา ไปสังเกตดูดี ๆ บางครั้งเราฝึกไปฝึกมาเนี่ย แทนที่เราจะฝึกอุเบกขา แต่เราฝึกตัณหา จึงเกิดมาเป็นทิฏฐิ ที่เป็นความคิด ต้องคอยดักตอบสนองอารมณ์อยู่เรื่อย ๆ บางครั้งเราจะหยุด เราไม่ได้ไปหยุดความคิด ไม่ได้ไปหยุดอารมณ์ที่ปรุงแต่งของโลก อารมณ์ปรุงแต่งของโลกหยุดไม่ได้ ความคิดหยุดไม่ได้ แต่เราหยุดพฤติกรรมของการที่จะกระทำต่อจากมัน เขาเรียกว่าตัณหาพาทำ เราจะเติมอุเบกขาคือพารู้ พาเห็น พาศึกษา ให้เห็นลักษณะของมันแต่ละเรื่อง เห็นลักษณะ เห็นปัจจัยประกอบ เห็นรสชาติ เห็นความทุกข์ เห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นการแตกสลายของสิ่งที่ปรุงแต่งให้ได้บ่อย ๆ เพื่อเติมกำลังของอุเบกขาให้มากขึ้น คือไม่ทำอะไรกับสภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะทุกอารมณ์ของโลกที่มากระทบกับเรา มันจะหลอกล่อให้เราหลงประเด็น เห็นความสำคัญ แล้วก็มีความมุ่งมั่นที่จะวิ่งตาม สนองตอบตาม แต่ผลสุดท้ายสิ่งที่เราได้ คือความว่างเปล่า ยึดติดอะไรไม่ได้เลย เกาะกลุ่มอะไรไม่ได้เลย เหนี่ยวรั้งอะไรไว้ไม่ได้เลย ก็ต้องเกิดความดิ้นรนแสวงหาไม่เลิก
แต่ถ้าเราปล่อยมันไปตามเส้นทางของมัน โดยนั่งดูมัน โดยฝึกจิต ตื่นขึ้นมารับรู้การมาของมัน การไปของมัน ก็จะเห็นปัจจัยประกอบของแต่ละอารมณ์ที่มากระทบ ที่เขากระทำกันเอง เขาปรุงแต่งกันเองตามระบบของธรรมชาติ ที่เขาเป็นอยู่
ฉะนั้นเวลาเราฝึก ที่จะฝึกออกจากทางโลกให้ได้ เข้าสู่ทางธรรม ต้องฝึกไปสู่การไม่กระทำใด ๆ ที่เป็นการปรุงแต่งทางโลก ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว เราจะมีผลจากอารมณ์ของโลก คือกามคุณทั้ง 5 ไปได้เลย
ฉะนั้นการฝึกที่จะเปิดใจ รับรู้การกระทำของมัน รับรู้องค์ประกอบของมัน รับรู้ลักษณะของมัน รับรู้คุณและโทษของมัน และเรายืนหลักอยู่ ให้ระวัง เพราะสิ่งที่จะสนองตอบตัณหาได้ มีอยู่ 3 อย่างเท่านั้นเอง คือเอากายกรรม วจีกรรม มโนกรรมไปทำตามความความต้องการของอารมณ์นั้น ๆ แต่ถ้าเราเปลี่ยนซะ จากมโนกรรมที่เคยหลงไปกับอารมณ์ มารับรู้ลักษณะของมันซะ รับรู้องค์ประกอบของมันซะ รับรู้การเปลี่ยนแปลงของมันซะ รับรู้ความทุกข์ของมัน รับรู้ความแตกสลายของมัน ตามที่มันเป็น มันก็จะเป็นการ เป็นผู้รู้ผู้ดูการแสดงได้อย่างสนิทใจ แล้วกายกรรมกับวจีกรรมเราก็ไม่ไปพูดตามมัน ไปทำตามมัน
ฉะนั้นทำอย่างไรให้อุเบกขาที่ทุกคนมีอยู่แล้ว ได้เจริญเติบโต ได้เข้มแข็ง เราก็ต้องมาเฝ้าในการฝึกฝนมันไปก่อน ฝึกฝนที่จะไม่กระทำ แต่รับรู้การกระทำ โดยให้เท่าทัน สิ่งที่มากระทบกับเราในแต่ละวัน ในแต่ละขณะ ในแต่ละเสี้ยววินาทีที่มีการกระทบอยู่ตลอดเวลา ที่เขากำลังเกิด กำลังมี กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ เราก็รับรู้ไป แล้วค่อยเลือก ค่อยวิเคราะห์ว่า อันไหนควรทำ อันไหนมันคือความจำเป็นที่แท้จริง ไม่ได้แฝงไปด้วยตัณหา แต่แฝงไปด้วยความจำเป็นต้องบรรเทา เราก็เข้าไปทำ ทำเสร็จแล้วเราก็จบ กลับมาสู่การรับรู้การกระทำนั้นต่อ
ต้องฝึกบ่อย ๆ ต้องฝึกเรื่อย ๆ ถ้าเราไม่ฝึก ชีวิต อารมณ์ของโลกจะกลืนกลืนกินชีวิตจิตใจและจิตวิญญาณของเราไปจนไม่เหลือ แล้วเราก็ไม่มีโอกาสที่จะเป็นอิสระจากมันได้เลย ชีวิตเราก็จะวุ่นวายไปตามอารมณ์นี้ตลอด ตั้งแต่เกิดจนตาย หาทางออกให้ตัวเองไม่ได้ ผลสุดท้ายจิตใจก็ต้องว้าวุ่น กลัดกลุ้ม ทุกข์ระทม เครียดกับภาวะเหล่านี้ เพราะไม่มีกำลังเพียงพอที่จะรับรู้สภาวะของมัน แม้แต่ภาวะของความเครียด ภาวะของความทะยานอยาก นี่ก็คือสิ่งที่เป็นอารมณ์ในใจ ที่เขาเพียงมาเพื่อกระทบกับจิตใจเท่านั้นเอง เพียงมาทักทายเราเพื่อผ่านไป เขาคือสิ่งที่เดินผ่านเส้นทางเรา เราจำเป็นต้องผ่านกับเขา เขาก็มาผ่านเรา มันเหมือนถนนเส้นหนึ่งที่เดินไปด้วยกัน แต่ก็ผ่านกันไปโดยไม่ได้ทะเลาะเบาะแว้งอะไรกัน แต่รู้จักหน้าตาซึ่งกันและกัน
อุเบกขาจะทำหน้าที่แบบนี้ ไม่พาทำอะไร แต่จะพาดูการกระทำของกิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวง อารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงที่มันเกิดขึ้น
ฉะนั้นเวลาเราฝึก เราลองดูว่า เราฝึกกันมาเนี่ย ฝึกเพื่อให้เกิดตัณหาหรือฝึกเพื่อให้เกิดอุเบกขา ลองดูนะ ถ้าเราฝึกเพื่อให้เกิดอุเบกขาเนี่ย เราจะค่อย ๆ เห็นว่า ทางธรรมให้ความสุขมากกว่าทางโลก แต่ถ้าเราฝึกแล้วเกิดตัณหา จะเห็นความสุขทางโลก มากกว่าความสุขทางธรรม ก็จะเจอความสุขบ้าง ทุกข์บ้างอยู่ร่ำไป เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวสบาย เดี๋ยวถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ก็จะถูกแรงเหวี่ยงของโลกที่ปรุงแต่งมาในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แล้วก็อารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงที่รายล้อมจิตใจเราอยู่ แต่ถ้าจิตใจเรามั่นคงในการรับรู้การกระทำของมัน รับรู้ความทุกข์ของมัน รับรู้ความเปลี่ยนแปลงของมัน รับรู้ความเกิดแล้วก็ดับของมัน มันก็จะทำให้ใจเราสงบนิ่งมากขึ้น ท่ามกลางสิ่งที่มันวุ่นวาย มีความเข้าใจในปัจจัยประกอบของมันอย่างถ่องแท้ และชัดเจน
เมื่อนั้นใจเราก็จะเริ่มมีความเป็นอิสระ มีความสุขได้ง่ายขึ้น มีความสุขที่ยาวนานขึ้น มีความสุขที่มากขึ้น สบายขึ้น
เมื่อเป็นถึงตรงนี้แล้ว ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยน โลกจะเหวี่ยงอย่างไรก็ตาม แต่ใจเรามีที่พึ่งเสียแล้ว มีที่อยู่เสียแล้ว มีที่อาศัยเสียแล้ว ก็จะไม่เดือดร้อน เหมือนบุคคลบุคคลหนึ่งมีหลังคาคุ้มหัว มีบ้านคุ้มครอง ฝนจะตก แดดจะออก ลมพายุจะพัดมาทั้ง 4 ทิศ ระดมเข้ามาเท่าไหร่ บุคคลบุคคลนั้นก็ยังพักผ่อนได้สบาย ๆ ในบ้านของตนเอง
นี่คือสาระ ของการพึ่งธรรม แต่ถ้าเราพึ่งโลก เราก็เหมือนกับคนที่ไม่มีบ้านคุ้มหัว ไม่มีหลังคาคุ้มหัว มีบ้านไว้อยู่อาศัย ฝนตกมา แดดออกมา พายุมา ก็ต้องแอบหลบ แอบซ่อน ต้องเปียกปอน ต้องร้อนหนาวกับอารมณ์ของโลกอยู่ตลอดเวลา
ขอให้เราเห็นโทษ เห็นพิษ เห็นภัยของมันด้วย ทุกคนก็เห็นอยู่แล้ว แต่ทุกคนยังไม่มีทางออกเฉย ๆฉะนั้นทางออกของมันคืออุเบกขา คือรับรู้การกระทำของมันซะ ตามที่มันเป็น แล้วอย่าไปทำต่อ เพราะตัณหาจะคอยสร้างการกระทำของเราอยู่เรื่อย ๆ ต้องแบบนั้น ต้องแบบนี้ ต้องแบบโน้น แต่ถ้าเป็นอุเบกขา คือรับรู้การกระทำของมัน มันจะเป็นแบบไหนก็ได้ แต่เราไม่ได้เป็นด้วย
การฝึกตัวรับรู้หรือฝึกรู้สึกตัวทีละขณะ ทีละขณะ สั้น ๆ อย่างมั่นคงไม่หวั่นไหวกับสิ่งรอบตัว จะทำให้เราได้ฝึกยืนท่ามกลางลมพายุ ได้จุดยืน ได้หลังคาคุ้มหัวท่ามกลางฝนตกและแดดออก
ขอให้พวกเราจงพยายาม มาทางธรรมให้มาก เอาทางโลกเป็นแค่เครื่องอาศัยอยู่จนชีวิตจะดับไป เอาทางธรรมเป็นเครื่องพักผ่อน พัฒนาให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
ฉะนั้นอานิสงส์ที่พวกเราทำทุก ๆ วัน มันจะทำให้เราเกิด เดินไปด้วยกันทั้งสองข้าง อย่าให้ขาข้างโลกมันใหญ่ แต่ขาข้างธรรมมันลีบ เราจะเดินไม่สะดวก แต่ถ้าขาข้างธรรมมันใหญ่ ขาข้างทางโลกมันลีบ นั่นเป็นสิ่งที่ดี
ฉะนั้นเดินไปด้วยกัน ฝึกฝนไปด้วยกัน จนกว่าเราจะได้หลักที่มั่นคง
ฉะนั้นเช้านี้ได้ให้ข้อคิด ตัณหาพาทำ อุเบกขาพาเลิก ตัณหาจะพาไปทำโน่น ทำนี่ ทำนั่นอยู่เรื่อย ๆ โดยใช้กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อุเบกขาพาเลิก โดยใช้การมโนกรรมในการรับรู้ และกายกรรม วจีกรรมไม่ทำตามอารมณ์นั้น ๆ แต่ศึกษา ดูลักษณะความเปลี่ยนแปลงของมันไปเรื่อย ๆ
ฉะนั้นในกระบวนการในการฝึกต่าง ๆ เช่นฝึกแยกนอกแยกใน ฝึก 3 กาลบ้าง ขณะเดียวบ้าง รู้สึกตัวบ้าง อยู่กับปัจจุบันบ้าง เพื่อส่งเสริมการรับรู้ให้มันเข้มแข็งขึ้น ส่งเสริมอุเบกขาให้มากขึ้นเท่านั้นเอง เราต้องเข้าใจ หรือเราฝึกฝืนบ้าง นี่คือปัจจัยประกอบที่จะส่งเสริมให้อารมณ์อุเบกขาของเราเนี่ย ที่เลิก ๆ หยุด ไม่ทำอะไรอีกแล้วกับโลกใบนี้ แต่จะรับรู้การกระทำของมันทั้งหมด และใจเราจะเบา และใจเราจะสบาย ใจเราจะไม่วิ่งวน วุ่นวาย แล้วจะเห็น แต่กลับจะเห็นความวุ่นวาย เห็นความวิ่งวน เห็นความทุกข์ทรมานของอารมณ์โลก ๆ ที่คอยดักวนเวียนมารายงานตัวให้เราเรียนรู้
ขอให้ทุกคนจงเข้มแข็ง ไม่ว่ามันจะมีสภาวะทางโลกมายั่วยุอะไรมาก ก็ขอให้เจริญก้าวหน้าทุก ๆ คน
ในเช้านี้ก็ได้พาชี้นำบางสิ่งบางอย่าง เพื่อให้เราฝึกฝน อารมณ์ของอุเบกขา ที่มีการรู้สั้น ๆ ที่มีการรู้ในปัจจุบัน ที่มันไหลผ่าน ที่มีการรู้ 3 กาล ที่มีการกระทำแบบไม่ทำอะไร รับรู้การกระทำของมัน
ขอให้ทุกคนได้อารมณ์นี้ แล้วก็อยู่กับอารมณ์นี้ แล้วก็สัมผัสอารมณ์นี้ให้ได้บ่อย ๆ ในทุก ๆ ขณะของชีวิตด้วยเทอญ
สุดท้ายนี้ เราตั้งใจอุทิศส่วนกุศลด้วยจิตที่เมตตา ด้วยจิตที่แผ่ไปสู่เพื่อนทั้งหลาย ที่ยังอยู่ในวังวนของความทุกข์ด้วยกัน ตั้งใจว่าตาม
อิทังเม ญาติณัง โหนตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย
ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลอันนี้ ไปให้กับทุก ๆ คน ทั้งตัวข้าพเจ้าด้วย ที่ยังอยู่ในความเป็นทุกข์อยู่ ขอให้พ้นจากทุกข์ด้วยเทอญ
สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
อะเวรา โหนตุ จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรต่อกันและกันเลย
อัพพะยา ปัชฌา โหนตุ จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด อย่าได้พยาบาท เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
อะนีฆา โหนตุ จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กาย ทุกข์ใจเลย
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัย ทั้งสิ้นเทอญ
ขอให้ทุกคนมีกำลังใจในการภาวนาต่อ ๆ ไป จนกว่าจิตใจเราจะเข้มแข็ง ด้วยเทอญ เจริญพร
สาธุ
โครงการรู้ขณิกะออนไลน์ คอร์สพัฒนาตัวรู้ ภาคฝืน3
โดย พระอาจารย์กระสินธุ์ อนุภัทโท
นำปฏิบัติร่วมกันวันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม 2563 เวลา 05:00-05:30 น. ณ ห้องกลุ่มไลน์
Comments (0)
To leave or reply to comments, please download free Podbean or
No Comments
To leave or reply to comments,
please download free Podbean App.