Episodes
Wednesday Jun 17, 2020
ฝึกรู้ให้เป็นวาระของชีวิต พจ.กระสินธุ์ 120663
Wednesday Jun 17, 2020
Wednesday Jun 17, 2020
ช่วงแรกเป็นธรรมเทศนา และตอนท้ายมีการถาม_ตอบข้อธรรม โดย พระอาจารย์กระสินธุ์ อนุภัทโท
0:15 ฝึกรู้ให้เป็นวาระของชีวิต
ก็ขออนุโมทนาสาธุนะ กับที่พวกเราได้ตั้งใจ สนใจอยากจะฟังธรรม การแสดงธรรมวันนี้ก็จะเป็นการแสดงเรื่องของการ(ที่)เราได้ภาวนากันนะ ก็เรื่องของการให้ทานก็ดี การรักษาศีลก็ดี เขาบอกว่า ให้ทานร้อยครั้งพันหนไม่เท่ากับรักษาศีลแค่หนเดียว รักษาศีลร้อยครั้งพันหนไม่เท่ากับภาวนาแค่ครั้งเดียว ก็การให้ทานทั้งหลายทั้งปวงที่ผ่านมา บางครั้งเราให้ทานไปเนี่ย แต่ว่าเราก็ไม่ได้ควบคุม ไม่ได้ฝึกตัวเอง ด้วยศีล คือกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกายกรรมกับวจีกรรม แต่พอเรามาถือศีลปุ๊บ มันก็จะมีการที่จะเข้ามาศึกษา เข้ามาปฏิบัติตัวเอง โดยการห้ามกายกรรมและวจีกรรมขึ้นมา หัวใจของศีล แต่ว่าจิตใจก็ยังไม่ได้รับการอบรมและภาวนา ได้อบรมบ้าง แต่ยังไม่ได้ขัดเกลา เข้าถึงมัน ทีนี้ก็เลยต้องอาศัยการภาวนาเนี่ย การภาวนาจะทำให้ตัวการให้ทาน ตัวการรักษาศีล ตัวการภาวนาจะทำให้เกิดความสมบูรณ์ขึ้นมา เพื่อจะได้ฝึกฝนเรื่องจิตเรื่องใจ เรื่องภายใน
ฉะนั้นก็อาศัยการที่พวกเราได้สนใจเรื่องภาวนาอยู่แล้ว ฉะนั้นการภาวนาก็คือ ไม่ใช่มีเรื่องอะไรยากมากมายอะไรนักหนา การภาวนา คือ การที่จะเข้าถึงตัวเอง เป็นการเข้าถึงตัวเอง เป็นการเข้ามาฝึกรู้ตัวเองเป็นการหัดที่จะเรียนรู้ตัวเอง เรียนรู้กาย เรียนรู้ใจของตนเองให้มากขึ้น เพราะเราอาจจะรู้เรื่องอื่น ๆ เยอะแยะมากมายด้วยการเรียน การอ่าน การฟัง แต่เป็นเรื่องภายนอก แต่การภาวนานี้จะเป็นเรื่องของการที่จะศึกษาด้านใน
ภายในก็มีอยู่ 2 เรื่องที่เราจะต้องตั้งใจศึกษาและเรียนรู้มัน เรื่องที่ 1 คือเรื่องของกาย อันหนึ่งคือเรื่องของกาย เราจะต้องเรียนรู้และศึกษามัน ในเรื่องของกาย เรื่องที่ 2 คือเรื่องของใจ ทีนี้เวลาจะศึกษาเรียนรู้เรื่องของกาย ก็ต้องเริ่มมาที่ไหนก่อน เริ่มที่กายเนี่ย เริ่มมารับรู้กายก่อน เราเริ่มต้นที่ตรงนี้เลย เราไม่ได้เริ่มต้นที่ตัวคิด เราไม่ได้เริ่มต้นที่ตัวคิด ตัวนึก ตัวตรรกะ ตัวเหตุผลอะไรทั้งสิ้น เราเริ่มต้นที่ตัวรู้เลย ไม่ใช่เริ่มต้นที่ตัวคิด
เบื้องต้นเนี่ยเราต้องหัดฝึกตัวรู้ก่อน ฝึกตัวรู้ที่จะมาใช้ดูกายดูจิต เพราะว่าเดิมทีเราจะใช้แต่ตัวคิด ตัวคิด ตัวนึกในการศึกษาชีวิต ในการใช้ชีวิตมีแต่การคิดการนึก แล้วก็ไหลไปตามอารมณ์ แต่วันนี้เราต้องหัดเริ่มจากความรู้สึกก่อน ต้องรู้จักความรู้สึกตัวก่อนว่า ทุกคนน่ะมีความรู้สึกตัวอยู่แล้ว แต่ความรู้สึกตัวของทุกคนมันไม่ได้มารู้ที่กาย เพราะฉะนั้นชีวิตเราวัน ๆ หนึ่งเนี่ย เรามีการยืน การเดิน การนั่ง การนอน คู้ เหยียด เคลื่อนไหว เหลียวซ้าย แลขวา ก้ม เงย เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ที่เกิดขึ้นกับร่างกายเยอะแยะมากมาย แต่ว่าส่วนใหญ่ความรู้สึกเรานั้นไม่ค่อยได้สนใจภาวะเหล่านี้ ไปสนใจแต่ภาวะของความคิดและอารมณ์พอใจไม่พอใจ อารมณ์อื่น ๆ ที่มาทางตา หู จมูก ลิ้น ที่กลายเป็นอารมณ์ของความคิดนึก เราก็จะเอาความรู้สึกวิ่งไปตามอารมณ์เหล่านั้น แต่ถ้าเรารู้จักมันดี ๆ เนี่ย เราจะฝึกเอาความรู้สึก มารู้สึก มาตามที่กายก่อน ใช้กายเป็นฐาน ใช้กายเป็นฐานภาวนา
ในกรรมฐานวิธีอื่น ๆ เขาก็ใช้กายตัวนี้เป็นฐาน จะเป็นเรื่องของการใช้ลมหายใจบ้าง จะเป็นเรื่องของการใช้ พุทโธหรืออสุภะอะไรต่าง ๆ เนี่ย แต่วันนี้เราจะใช้ฐานกายของเราเองเป็นหลัก โดยอาศัยอาการกายที่มัน... ในเบื้องต้นนี่นะ ในเบื้องต้น เราจะใช้ความรู้สึกตัวเนี่ย ภาวะของความรู้สึก หัดมารับรู้กายก่อน ทีนี้ในร่างกายเนี่ยก็มีเยอะแยะมากมายที่จะเกิดขึ้น อาการยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด เคลื่อนไหว แต่เบื้องต้นเนี่ย ให้เรา…
เราใช้ชีวิตทั้งชีวิตของเราแต่ละคนน่ะ บางครั้งเราต้องทำการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราอยู่บ้าน ไม่ได้มาอยู่ที่วัด การภาวนามันก็จะ จะมานั่งแบบเหมือนอยู่วัดก็ไม่ได้ มาเดินจงกรม มาสร้างจังหวะแบบอยู่วัดในรูปแบบ ได้ยาก เพราะมันต้องทำภาวนา แต่ชีวิตมันมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอด เราจะเห็นได้ว่าชีวิตของเราน่ะ มันมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาเลยแหละ ทุก ๆ คน ตั้งแต่ตื่นจนหลับ การเคลื่อนไหวมีอยู่ตลอดเวลา แต่เราก็ไม่เคยเอาการเคลื่อนไหวเนี่ย มาเป็นเครื่องมือฝึกรู้ มันจะเป็นการเคลื่อนไหวทั้งภายนอกและภายในอยู่ตลอด ภายนอกก็คือการเคลื่อนไหวของร่างกาย
การเคลื่อนไหวเนี่ย ตัวการเคลื่อนไหวทั้งหมด เอามาเป็นเครื่องมือหลอกล่อ ฝึกซ้อมก่อน เพราะการเคลื่อนไหวเนี่ย มันเป็นการเคลื่อนไหวที่บริสุทธิ์ มันเพียว ๆ อยู่ มันเป็นการเคลื่อนไหวโดยธรรมชาติของร่างกาย มีอยู่ตลอดเวลา การเคลื่อนไหวของลมหายใจ การเคลื่อนไหวของหัวใจ หรือการเคลื่อนไหวที่หยาบ ๆ หน่อยก็คือการเคลื่อนไหวของมือ ของเท้า ของกาย ของร่างกายที่มันขยับเขยื้อนตลอดเวลา เดี๋ยวก้ม เดี๋ยวเงย เดี๋ยวเหลียวซ้าย แลขวา ก้มเงย หรือเอียงทางซ้าย เอียงทางขวา เยอะแยะ ที่เป็นการเคลื่อนไหวหยาบ ๆ หรือเป็นการเคลื่อนไหวของมือที่เอื้อมไปจับสิ่งของ หยิบสิ่งของ อันนี้ ทุกคนก็มีอยู่แล้ว แต่ทุกคนไม่เคยเอาความรู้สึกมาใส่ใจกับอาการเคลื่อนไหวที่มันมีอยู่แล้ว ที่มันเป็นอยู่แล้ว อยู่เรื่อย ๆ
ทีนี้พอขั้นยิ่งกลางเข้ามาหน่อยก็คือ การเคลื่อนไหวของลมหายใจ การเคลื่อนไหวของลมหายใจก็เป็นอีกอันหนึ่งที่ว่า เออ ขยับเข้ามาใกล้หน่อย แต่ถ้าละเอียดเข้าไปอีกคือการเคลื่อนไหวของอารมณ์ คือความคิด ของความคิดความนึก เรื่องของอารมณ์ที่มันพอใจไม่พอใจ อันนี้ก็เป็นการเคลื่อนไหวทางด้านนามธรรมอีกอันหนึ่ง ที่จะมีเคลื่อนไหวของเขาอยู่ตลอดเวลา
ทีนี้เราก็เลยอาศัยว่า จิตมันชอบไปกับการเคลื่อนไหว ทีนี้เราก็เลยต้องอาศัยว่า เอาจุดที่มันชอบมัน มันชอบไปกับการเคลื่อนไหว ยิ่งการเคลื่อนไหวทางความคิด มันวูบมาแล้วจิตชอบไป เราก็เลยว่า เออ อาศัยจิตน่ะมาหัดกับการเคลื่อนไหวของร่างกายก่อน ประเด็นแรกเนี่ย คือร่างกายเนี่ย มาสำรวจร่างกายก่อนว่า เอ้า อย่างเบื้องต้นจริง ๆ เนี่ย ถ้าใครจะทำ เช่นมาสังเกตการเคลื่อนไหวของการกระพริบตาก็ได้ ในแต่ละครั้ง กระพริบตาทุกครั้ง ก็รับรู้มันไป แค่นั้นแหละ ทุกครั้งที่กระพริบตาเราก็รู้ หรือไม่บางคนจะหัดมาที่กลืนน้ำลายก็ได้ ทุกครั้งที่เรากลืนน้ำลายเราก็จะฝึกรู้ เนี่ย เราตั้งโจทย์ปณิธาน ตั้งโจทย์เอาไว้ ตั้งวาระจิตว่า เราจะ... ทุกครั้งที่มีการกระพริบตา ฉันจะทำให้ได้ ฉันจะรู้ให้ได้เนี่ย ถ้าเราตั้งโจทย์อย่างนี้บ่อย ๆ เรื่อย ๆ ทุกครั้งที่กระพริบตาก็รู้ กระพริบตาครั้งหนึ่งก็รู้ไป
แต่การรู้เบื้องต้นอาจจะมีการจดจ่อและตั้งใจหน่อยนึง แต่ก็เป็นการฝึกหัดให้จิตมันได้รับรู้ หรือใครได้รู้จักลมหายใจ ก็ เอ้า ตั้งใจรู้กับลมหายใจ แต่ให้มันสัมผัสได้บ่อย ๆ ไม่ใช่ว่าวันหนึ่งได้แค่ครั้งเดียว วันหนึ่งน่ะ ถ้ามันได้ทุกครั้งได้ยิ่งดี ทุกครั้งที่กระพริบตา ทุกครั้งที่หายใจ ทุกครั้งที่กลืนน้ำลายหรือทุกครั้งที่เราเอื้อมมือไปจับอะไรเนี่ย เราหัดรับรู้มัน รับรู้การเคลื่อนไหวไปเล่น ๆ ไม่ต้องไปเอาผิดเอาถูก หรือไปเอาดีเอาไม่ดีอะไรทั้งนั้นแหละ แค่พาใจมันมาหัดรู้การเคลื่อนไหวของร่างกายก่อน เพื่อจะให้มันหัด หรือจะให้มันฝึกจิตให้มันแยกออกจากความคิด ออกจากอารมณ์เสียบ้าง มาอยู่กับฐานกายเนี่ย เป็นเบื้องต้นก่อน อยู่กับฐานกายแบบไม่ต้องใช้ความคิด ใช้ความรู้สึกไปเลย ในเบื้องต้นหัดเอาตัวรู้น่ะ มาฝึกซ้อมกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย
หรือใครที่เคยสร้างจังหวะ เอ้า ก็มารู้สึกกับการเคลื่อนไหวแบบ 14 จังหวะ 14 จังหวะไป พยายามทำให้มันเป็นตลอด ให้มันแบบไม่มีกาลไม่มีเวลา รู้สึกได้ทุกครั้ง เหมือนกับกระพริบตา ไม่มีกาลไม่มีเวลา ถึงเวลามันก็จะกระพริบ ถึงเวลามันก็จะกลืนน้ำลาย ถึงเวลามันก็จะ เอี้ยว หันซ้าย หันขวาของมันเองมัน มันไม่มีกาลไม่มีเวลา มันจะเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ เหมือนหัวใจไม่มีกาลไม่มีเวลา มันก็เต้นของมันไปเรื่อย ๆ
เพราะฉะนั้นถ้าเรารับรู้ เราฝึกรู้แบบไม่มีกาลไม่มีเวลา มันจะทำให้เรา ตัวรู้ของเรามันจะเติบโตแล้วก็ต่อเนื่อง แล้วก็เติบโตเร็ว แต่ถ้าเราบล็อกให้มันเป็นกาลเวลาว่า ช่วงนี้ทำ ช่วงนี้ไม่ทำ มันก็จะทำให้การภาวนาของเราน่ะ มันมีเวลาจำกัด แต่ถ้าเราหัดนะ ไม่ว่าเราจะทำงานอะไร จะเขียนหนังสือกับโต๊ะ หรือเล่นคอมอะไรต่าง ๆ ที่มันมีการขยับนิ้วมืออะไรก็ต่าง ๆ เวลาเราทำงานน่ะ มันมีการเคลื่อนไหวอยู่แล้ว ระหว่างการเคลื่อนไหว ในงานน่ะ มันจะมีเรื่องงาน แล้วก็มีการเคลื่อนไหวที่ทำงาน อ่ะ เราก็วางแผนเรื่องงานจบ แล้วก็มาสนใจเรื่องการเคลื่อนไหวในการทำงานต่อ ฉะนั้นใครเล่นคอมพิวเตอร์ ก็ เอ้า เวลานิ้วมันเคลื่อนไหว ก็รู้สึกกับการเคลื่อนไหวของนิ้วไป รู้บ้างไม่รู้บ้างแต่พยายามจะรู้ไว้ เพื่อจะให้มันได้ภาวนาตลอด
คำว่าภาวนา คือ กลับมารู้ตรงนี้แหละ เบื้องต้นก่อน กลับมารู้การเคลื่อนไหวนี้ให้ได้ก่อน
ฉะนั้นการเคลื่อนไหวนี้มี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งที่เป็นธรรมชาติ อีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนทำขึ้น ส่วนธรรมชาติจะเป็นส่วนที่เขาเกิดเอง เกิดเองแล้วเรารับรู้เอง เหมือนกับเรารู้กระพริบตา ให้กระพริบตาไปก่อน แล้วค่อยรู้ ไม่ต้องไม่ใช่... ให้เขากระพริบตาไปก่อนแล้วค่อยรู้ ให้กลืนน้ำลายก่อนแล้วค่อยรู้ หันซ้ายหันขวาก่อนแล้วค่อยรู้ อันนี้เขาเรียกว่าเป็นรู้แบบธรรมชาติ ให้เขาเกิดก่อน ให้เขามีอาการเกิดก่อนแล้วเราค่อยรู้ไป นี่คือรู้ธรรมชาติ
แต่รู้แบบทำขึ้น คือ เรามีเจตนาตั้งใจจะรู้กระพริบตา ตั้งใจจะรู้ลมหายใจ นี่เขาเรียกว่าเราตั้งใจมัน ตั้งใจขึ้นมาก่อน เพื่อที่จะรู้การเคลื่อนไหว อันนี้เป็นการทำขึ้นมา ตั้งใจขึ้นมาก่อน แล้วรู้การเคลื่อนไหว รู้กระพริบตาบ้าง รู้หายใจบ้าง ในบางครั้งมันจะจดจ้อง แล้วก็อึดอัด ฉะนั้นเราต้องรู้จังหวะ 2 จังหวะนี้ให้ดี ๆ ถ้าจังหวะไหนมันอึดอัด เอ้า แสดงว่ามันเพ่ง มันจ้องมากไป เราก็ผ่อนคลายมา เอ้า ให้มันเกิดก่อนแล้วเราค่อยรู้ตาม เกิดก่อนแล้วรู้ตาม รู้ตามหลังไว ๆ รู้ตามหลังไว ๆ มันเกิดแล้วก็รู้ไป ๆ หัดอันนี้ ในเบื้องต้นเนี่ย หัดตรงนี้ให้ชัด ๆ
พอมันเริ่มรู้จักการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ถี่ ๆ บ่อย ๆ ถี่ ๆ บ่อย ๆ บ่อยเข้า ๆ บ่อยเข้าเนี่ย เดี๋ยวมันก็จะเริ่มขยายผลในการเห็นการเคลื่อนไหวของเสียงที่ผ่านหู กลิ่นที่ผ่านจมูก รสที่ผ่านลิ้น รูปทั้งหลายที่ผ่านตา นี่คือขบวนการของการเคลื่อนไหว มันก็จะมีตั้งแต่รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส สัมผัส คือ สิ่งที่มากระทบสัมผัสกับร่างกาย ร้อน เย็น อุ่น หนาว อะไรต่าง ๆ หรือมีอาการปวด อาการเมื่อย มันก็จะมีเป็นการเคลื่อนไหว มากระทบกับร่างกายเราอยู่ตลอด เราก็หัดนะ หัดที่จะรับรู้การเคลื่อนไหวของส่วนนี้ให้มากก่อน ในเบื้องต้น เพราะว่าการที่จะฝึกตัวรู้ที่มารู้การเคลื่อนไหวของร่างกายเนี่ย มันจะเป็นการได้ 2 ส่วน หนึ่งเป็นส่วนที่ไม่ต้องคิด ส่วนที่ไม่ต้องคิด ไม่ต้องใช้การคิดเลย ไม่ต้องใช้เหตุผล ไม่ต้องใช้ตรรกะ ไม่ต้องใช้ภาษาใด ๆ ทั้งสิ้นกับมัน มันจะมีอยู่แล้ว ปรากฏอยู่แล้ว เราก็เอาตัวรู้ที่แบบมันไม่ต้องใช้ความคิด ที่มันรู้ของมันอยู่แล้ว หัดรู้ร่างกายไปก่อน ในส่วนร่างกายที่มันเกิดขึ้นจริง ๆ เป็นส่วนของอารมณ์ปัจจุบันเนี่ย เราก็หัด หัดให้มันสัมผัส รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ตัวนี้ที่มันถูกต้องตา หู จมูก ลิ้น กาย มันเป็นการเคลื่อนไหวที่มีภาวะอยู่ในปัจจุบัน และเป็นภาวะที่ไม่ต้องคิด เราก็ฝึก ฝึกอันนี้ไปก่อน ฝึกไปเรื่อย ๆ
พอฝึกมากเข้า ๆ ทุกครั้งที่เรารู้ได้บ่อย เอาเงื่อนไขว่า ถ้าเรารู้ได้บ่อยนะ อะไรเกิดขึ้นมาวูบหนึ่ง รู้ได้บ่อยและรู้สั้น ๆ ไม่ต้องไปรู้ยาว รู้สั้น ๆ แค่รู้แล้วทิ้งเลย แค่รู้แล้วทิ้งเลย คำว่าทิ้งนี้เนี่ย หมายความว่า สิ่งนั้นจะหายก็ได้ ไม่หายก็ได้ แต่ฉันทิ้ง ไปรู้เรื่องใหม่ต่อ ไปรู้เรื่องใหม่ต่อ รู้เรื่องใหม่ต่อ
อันนี้เป็นการฝึกรู้ทางด้านส่วนของร่างกาย เราก็จะเห็นโซนของรูป เขาเรียกว่าโซนของรูปเนี่ย มันไม่ต้องคิด แต่เราเอาตัวรู้มาหัด ฝึกหัดรู้ ภาวะรู้ที่ไม่ต้องคิดเนี่ย ให้มาก ๆ เพื่อให้มันหัด เพื่อต้องการฝึกหัดให้มันแยก ให้มีนิสัยในการแยกตัวออกจากความคิด ไม่อย่างนั้นแล้ว ตัวรู้สึก ภาวะของรู้กับคิดเนี่ย มันจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหมดเลย โดยเรา ถ้าเราไม่หัดแยก รู้อะไรก็คิดไอ้นั่น คิดอะไรก็รู้อันนั้น นี่คือคนที่ยังไม่ได้ฝึก มันจึงรู้โกรธแล้ว มันจึงคิดกับความโกรธ แล้วก็เป็นไปกับความโกรธ เพราะมันไม่มีกำลังของตัวรู้ที่ไม่ต้องคิด เพราะตัวรู้นี้ มันเป็นตัวรู้ที่เดิมแท้ ที่ทุกคนมีมาแล้วตั้งแต่เกิด รอการพัฒนาเฉย ๆ เราไม่ได้ต้องไปแสวง หาหรือทำตัวรู้ขึ้นมาใหม่ รู้เดิมนั่นแหละ เดิมแท้ของชีวิตน่ะ มันมีอยู่แล้ว ภาวะนี้
เด็ก ๆ ที่เราเกิดขึ้นมาครั้งแรก เกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ เราก็รับรู้โลกใบนี้โดยยังไม่มีภาษา ไม่มีเหตุผล ไม่มีตรรกะ ไม่มีความชอบหรือไม่ชอบอะไรทั้งสิ้น ก็ตื่นขึ้นมาเพื่อรับรู้มันตามที่โลกนี้มันเป็น สิ่งที่โลกนี้เป็นก็คือ รูปมันก็เป็นรูป เสียงมันก็เป็นเสียง กลิ่นก็เป็นกลิ่น รสก็เป็นรส ผัสสะทั้งหลายก็เป็นผัสสะ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็เป็น เย็น ร้อน อ่อน แข็งของมันโดยธรรมชาติอยู่แล้ว พอเราโตขึ้นมาหน่อยปุ๊บ เรามีสมมติเข้าไปครอบงำ มีความคิด มี ภาษา มีชื่อ มีความหมายเข้าไปครอบงำ สิ่งเหล่านี้แหละ มันก็เลยบดบังจิตเดิมแท้ของเราที่เรามีอยู่แล้ว
ฉะนั้นเราต้องหาโอกาส หาจังหวะมากระตุ้นมัน กระตุ้นไอ้ตัวนี้ ตัวรู้เดิมแท้ของเราที่มันรู้แบบไม่ต้องคิด ไม่ต้องใช้การคิดเลย ใช้การรู้ และสิ่งที่ไม่ต้องคิดมีเยอะแยะ ตาคิดไม่เป็น หูคิดไม่เป็น จมูกคิดไม่เป็น ลิ้นคิดไม่เป็น กายคิดไม่เป็น เนี่ย สิ่งเหล่านี้เขาคิดไม่เป็น ความคิดไม่ได้อยู่ในสิ่งเหล่านี้
ฉะนั้นเรื่องที่รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสมากระทบกับอายตนะภายนอก คือตา หู จมูก ลิ้น กาย เนี่ย เป็นโซนที่เราสามารถเอาตัวรู้สึกตัวมาฝึกซ้อม ฝึกซ้อมรู้แบบไม่ต้องคิด รู้แบบซื่อ ๆ รู้แล้วไม่ได้ทำอะไร รู้แบบซื่อ ๆ รู้แบบไม่ได้ทำอะไรกับมัน ปล่อย แล้วปล่อยทุกอย่างให้เขาเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เขาจะร้อนก็ปล่อยให้ร้อนมันเกิดขึ้นมา เย็นก็ปล่อยให้เย็นเกิดขึ้นมาโดยตามธรรมชาติของเขา เราไม่ต้องไปดิ้นรนตามภาวะพวกนี้ เดี๋ยวเขาก็เปลี่ยนไป ๆ บรรเทามันได้บ้างก็บรรเทาไป บรรเทาไม่หายก็อยู่กับมันไป ตามที่มันเป็นนั่นแหละ อันนี้อันหนึ่ง
พอเราตรงทำตรงนี้ได้มั่นคง เราก็จะเริ่มเห็นตัวข้างใน ข้างในที่เป็นความคิด ที่เป็นอารมณ์พอใจ ที่เป็นอารมณ์ไม่พอใจ ที่เป็นความอยาก ที่เป็นความโกรธ ที่เป็นความโลภ ที่เป็นความหลง ที่มันเป็นข้างใน โลภะ โทสะ โมหะอะไรพวกนี้ ที่มันเกิดมาข้างใน มันก็จะเริ่มเห็น อ๋อ มันจะมีอีกส่วนหนึ่งนะที่มันอาศัยจากการปัจจุบันที่กระทบสัมผัสแล้ว ก็สร้างเรื่องขึ้นมา เป็นอดีตกับอนาคต มันอาจจะคิดร้อยเรื่องพันเรื่องหมื่นเรื่องแสนเรื่อง แต่เรื่องที่มันจริง ๆ มีแค่เรื่องเดียวคือมันกำลังคิด แต่เรื่องที่มันกำลังคิด ความคิดนั่นแหละเป็นเรื่องจริง เรื่องเดียว แต่เรื่องที่คิดอาจจะไม่จริงก็ได้ เป็นมโนภาพเอา
เราก็หัด พอเราหัดรู้ตรงนี้บ่อย ๆ เข้าเนี่ย รู้ทางกาย ทางภายนอกที่มันไม่ต้องคิด บ่อยเข้า ๆ จิตเดิมแท้ของเรา มันก็จะเริ่มสัมผัส เขาเรียกว่าสัมผัสกับสภาวะของตัวรู้ล้วน ๆ ตัวรู้ถ้วน ๆ ตัวรู้ชื่อ ๆ ตัวรู้ที่เกิดมาแบบไม่ต้องใช้ความคิดเลย มันก็จะเริ่มคุ้นชินกับการรู้ที่ไม่ต้องคิดมากเข้า ๆ แล้วข้างในมันก็จะสงบ คำพูดต่าง ๆ ความคิดต่าง ๆ คำสั่งต่าง ๆ มันก็จะสงบลงไป ในเมื่อเราหัดรู้ข้างนี้มากเข้า ๆ เวลาใหม่ ๆ เนี่ย มันจะเผลอเข้าไปข้างในก่อน เวลามันเผลอเข้าไปข้างใน เราจะเห็น เวลาเราภาวนาไป ๆ ปุ๊บ เรารู้ฐานกายดี ๆ ถ้ามันไปกับความคิดปุ๊ปน่ะ กายมันจะหาย ตา หู จมูก ลิ้น กายมันจะหายไปเลย มันจะไปอยู่กับมโนภาพภายในใจ เป็นความคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้เรื่องนั้นไปเรื่อย ๆ เนี่ย ถ้าเรารู้อย่างนี้ปุ๊บ เราต้องรีบออก รีบออกมา รีบออกมาจากภายในที่มันเป็นความคิดนึก ที่มันเป็นความพอใจไม่พอใจเนี่ย หัดออก พอเห็นปุ๊บ มันจะรู้เลยว่า อ๋อ ถ้ามันเข้าไปนะ ภายนอกเราจะหาย กายเราจะหาย เสียงก็จะหาย ตาก็จะไม่เห็น ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เคลื่อนไหวอยู่เราก็จะไม่รู้ อันนี้ คนส่วนใหญ่ ยืน เดิน นั่ง นอน (แล้ว)ไม่ค่อยรู้เพราะเข้าไปข้างใน จิตน่ะ เข้าไปอยู่กับความคิด อยู่กับอารมณ์ข้างใน จนลืมกายเลย
ทีนี้ถ้าเราหัดบ่อย ๆ เนี่ย เราหัดกลับมา เอาออก ฝึกออก ฝึกออก ถ้าเขาเข้าไปก็ฝึกออกมารู้ภายนอกไปเรื่อย ๆ ยืนหลักฐานอันนี้เอาไว้ให้มั่นคง คอยดักตรวจเช็ค อ๋อ ตอนนี้ ถ้ามันเข้าไปแล้วมันจะหายนะ การเดินก็จะหาย การรู้เรื่องเคลื่อนไหวทางกายก็จะหายไปหมดเลย ไปรู้การเคลื่อนไหวทางข้างใน รู้บ่อยเข้า ๆ ด้วยอุปนิสัยที่มักหลง มันก็จะหลงไป หลงไปเป็นตามอารมณ์นั้น ๆ ไปเรื่อย ๆ เราก็พยายาม เวลามันโกรธ มันเกลียดอย่าไปทำอะไร ออกมา ออกมาดูว่ากายกำลังทำอะไรอยู่ ออกมาอยู่กับปัจจุบัน ฝึกซ้อม พอซ้อมไปซ้อมมา ฝึกรู้ไปรู้มา เราจะเห็นเลย
พอฝึกบ่อย ๆ เข้า เราจะเห็น อ๋อ มันมี 2 ส่วน ส่วนของร่างกายที่มีตา หู จมูก ลิ้น มีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีสัมผัสนี่ก็ส่วนหนึ่ง ส่วนของความคิดนึก ที่เป็นอารมณ์ ส่วนของความคิดนึกที่เป็นอารมณ์พอใจไม่พอใจ เป็นความคิดนึก เป็นตรรกะ เป็นเหตุผล เป็นความทะยานอยาก อยากโน่นบ้าง อยากนี่บ้าง ชอบจัดการโน่นนี่บ้าง มันจะเป็นส่วนภายใน ส่วนตัวรู้ที่มันรู้ทั้ง... มันรู้ของมันล้วน ๆ รู้ของมันเฉย ๆ รู้แล้วไม่ได้อะไร แค่รู้ มันก็จะแยกตัวเองออกมาได้ชัด เมื่อมันแยกตัวเองออกมาได้ชัดปุ๊บ มันก็จะเริ่ม มันก็จะเริ่มดีขึ้น มันจะเริ่มเห็นหลัก เห็นหลักของการภาวนา หลักของการภาวนาเนี่ย
ไอ้หลักตรงนี้ หลักตัวรู้สึกตัวที่มันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องข้างนอกเรื่องข้างใน มันจะค่อย ๆ เกิดขึ้นมา มันจะมีตัวรู้สึกตัวที่รู้อยู่ว่าเรื่องข้างนอกที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมันก็เป็นเรื่องของมัน ที่เกิดตามเหตุตามปัจจัยของธรรมชาติเองมัน เรื่องข้างในที่มันคิด มันนึก มันปรุงแต่ง มันก็เป็นเรื่องของมัน จะโกรธ จะเกลียด จะรัก จะชัง จะชอบ จะสงบ จะดีอะไรก็ช่าง ก็ตามมันก็เป็นเรื่องของมัน มันมาแล้วมันก็จะหายไป มันเกิดแล้วมันก็จะดับไป มันอยู่ไม่ได้ มันมาแล้วมันก็หาย เกิดแล้วก็ดับ มันเป็นทุกข์อยู่ในตัวของมันเองเสร็จ เราก็จะเห็นภาวะของตัวรู้ที่มันรู้อยู่ระหว่างนี้ ที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับความทุกข์ของทั้งสองฟากฝั่งนี้ แล้วจิตใจของเราก็จะเริ่มเข้มแข็งขึ้นมา มันจะเริ่มเห็นว่า อ๋อ ภาวะรู้ล้วน ๆ รู้ที่ไม่ได้ปนกับอะไร ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอะไร มันเป็นภาวะของมันอย่างนี้เอง โดยเราเริ่มจากตรงนี้ เริ่มจากฐานที่มาฝึกตัวเคลื่อนไหวทางกายภายนอกนี้ก่อน เป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ต้องใช้ความคิดนึกอะไรทั้งสิ้น แล้วก็ฝึกรู้ไป
ฉะนั้นใครจะฝึกรู้แต่ละวัน เราฝึกตรงนี้ให้มาก ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไรก็ตาม คอยเพิ่มพูนมันเรื่อย ๆ เขาเรียกว่ามีการตรึก ตรึกว่าฉันจะทำเรื่องนี้ ทำเรื่องนี้ ทำเรื่องนี้ บ่อย ๆ ไอ้การตรึกที่จะทำเรื่องนี้บ่อย ๆ มันจะทำให้เรามีสติและทำให้เรามีสมาธิแน่วแน่กับเรื่องนี้ ไม่หลงลืม ถึงลืมแต่กลับมาได้บ่อย กลับมาได้ไว มันเลยทำให้เราเนี่ย ถ้าเราอยู่ตรงนี้ได้บ่อย ๆ เข้า เราจะเห็นเลยว่า เราจะเริ่มเห็นว่า เออ อยู่ตรงนี้มันมีความสุขนะ ไม่เหมือนกับความสุขเมื่อก่อน ความสุขของเมื่อก่อนเนี่ย เราต้องวิ่งไปตามความคิด วิ่งไปตามอารมณ์ เมื่อได้สนองตอบตามอารมณ์ที่ตัวคิดตัวเองอยากแล้วก็จะมีความสุข แต่ความสุขนั้นเดี๋ยวก็จะหายไป แล้วก็จะอยากต่อไปอีกเรื่อย ๆ เรื่อย ๆ ผลสุดท้าย วันหลังมันจะเบื่อ นั่นก็ทำมาแล้ว นี่ก็ทำมาแล้ว โน่นก็ทำมาแล้ว ไม่เห็นมันดีสักอย่าง มันจะเริ่มเบื่อ เริ่มหน่าย เริ่มเศร้า เริ่มหาตัวใหม่เรื่อย ๆ แต่ถ้าตรงนี้ มันจะเป็นความสุขที่ไม่ต้องไปวิ่งหาอะไร ความสุขที่จะอยู่กับตัวเอง อยู่กับตัวรู้ที่ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับอารมณ์ แต่มีอารมณ์ อยู่กับตัวรู้ที่มันรู้อารมณ์ ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับอารมณ์ ไม่ได้เป็นไปตามอารมณ์นั้นบ่อย ๆ
ฉะนั้นเวลาเราไปภาวนาปุ๊บเนี่ย แต่ละวัน จะกินข้าว อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟันเนี่ย หัด หัดให้มันรู้ให้ได้ บางครั้งที่เคยสอน ๆ ไปน่ะ เคยหัดใช้ หัดแบ่งกิจกรรมแต่ละเรื่องเป็น 3 ช่วง ก่อนทำเรื่องนี้ อ่ะ รู้ตัวหรือยัง กำลังทำเรื่องนี้ รู้ตัวได้เท่าไร หลังจากทำเรื่องนี้แล้วก็เช็ค เออ เราทำเรื่องนี้ เรารู้ได้ตั้งหลายครั้ง เราเกิดภาวะของการรู้สึกตัวได้หลายครั้ง ก่อนแต่ละเรื่องเนี่ย ลองแบ่งชีวิตแต่ละเรื่อง ๆ ซอยให้มันเป็นช่วง ๆ อย่าให้มันไหลยาว มันจะได้เห็นความเป็นขณะหนึ่ง ๆ จะเห็นความเป็นเกิดสั้น ๆ แต่เกิดบ่อยของมัน ในภาวะนี้ เมื่อตัวนี้มันเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ เข้า บ่อยเข้า ๆ มันก็จะเริ่ม ใจมันก็จะเริ่มสงบนิ่งขึ้น ที่เคยวิ่งไป
คำว่าใจสงบนิ่ง ไม่ใช่ว่าอารมณ์มันจะสงบนิ่งนะ อารมณ์ก็ยังมีเหมือนเดิมนั่นแหละ แต่ใจน่ะ มันหยุด หยุดการวิ่ง วิ่งแส่ส่ายไปตามอารมณ์ วิ่งไปตามอารมณ์ มันหยุด มันแค่หยุด(แล้ว)รู้อารมณ์ หยุด(แล้ว)เรียนรู้อารมณ์ หยุด(แล้ว)สังเกตเรียนรู้อารมณ์เฉย ๆ ไม่ได้เข้าไปจัดการเหมือนเมื่อก่อนแล้ว มันก็จะเบา มันก็จะสบาย ชีวิตมันก็จะง่ายขึ้น ๆ เพราะว่าในโลกปัจจุบันนี้ แต่ละคนน่ะ อารมณ์มันเร่าร้อน มันเร่าร้อน อารมณ์ของแต่ละคนมันร้อน อากาศก็ร้อนและเศรษฐกิจก็ย่ำแย่ โรคภัยไข้เจ็บก็มาอีก แล้วก็ เราฟังข่าวแต่ละวัน ๆซึมซับแต่อกุศลไป เรื่องดี ๆ มีเยอะแยะ มันก็ไม่ค่อยได้ซึมซับ ไม่เป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่เรื่องที่ไม่ดี ๆ มันซึมซับเข้าไปปุ๊บ มันก็ส่งผลให้เราน่ะ จิตเราน่ะ ไหลไปตามอารมณ์นั้น ๆ เมื่อไหลตามอารมณ์นั้นปุ๊บ อารมณ์นั้นมีอำนาจ มันก็บีบบังคับให้เราต้องวิ่งตามมัน ต้องทำตามมัน
ฉะนั้นเราต้องหัด ต้องหัด อยู่บ้าน(หรือ)อยู่ที่ไหนก็ตาม หัดภาวนา มันง่าย ๆ ที่ว่ากลับมา รู้จักกับตัวรู้เนี่ย เบื้องต้นเราอาจจะยังไม่รู้จักตัวรู้ ก็ เอ้า มารู้ที่อาการเคลื่อนไหวของร่างกายไปก่อน นานเข้า ๆ มันก็จะเริ่มรู้อาการกระพริบตาบ้าง กลืนน้ำลายบ้าง เย็นบ้าง ร้อนบ้าง เนี่ย มันจะค่อย ๆ ซึมซับเข้ามาเรื่อย ๆ พาใจมาสัมผัสกาย มารู้เรื่องของกายที่มันเป็นอยู่ เอาเรื่องของกายที่มันเป็นอยู่เป็นฐาน เป็นหลัก
ก็อยากจะฝากไว้ว่า ให้พวกเราหัด ต้องหัดฝึก ถ้าเราไม่ฝึกเรื่องตรงนี้นะ ถ้าไม่เอาอันนี้เป็นวาระแห่งชีวิตเนี่ย แล้วเราจะเอาชีวิตของเราเอง ไปทำเป็นแบบเหมือนเดิม ๆ มันก็ได้อย่างเดิมนั่นแหละ ได้ทุกข์ ได้ยาก ได้ลำบาก ได้วุ่นวาย ได้โลภ ได้โกรธ ได้หลงเหมือนเดิม เพราะว่าชีวิต ถ้าเราปล่อยไปกับการหลง มันก็จะไปเส้นทางของมันนั่นแหละ หลงไปทุกเรื่องทุกราว ถ้าเรามีชีวิตกับการรู้ มันก็ไปตามเส้นทางของมัน มันก็จะได้เรียนรู้และศึกษาได้ทุกเรื่องทุกราว อยากฝากไว้ให้พวกเราน่ะ ได้หัด ได้หัดภาวนา ได้หัดสอนภาวนากันไป ทีนี้เวลา ถ้าเรายังไม่เข้าใจ ฟังไม่เข้าใจเรื่องการภาวนาอะไร เดี๋ยวตอนท้าย ตอนจบเนี่ย ก็จะแจกคู่มือ คู่มือความรู้ส่วนหนึ่ง เอาไปอ่านดู เอาไปอ่านดู วิธีการฝึก วิธีการสังเกต วิธีการเรียนรู้ที่จะฝึกตัวรู้สึกตัว มันมีกี่ลักษณะ มีกี่แบบ มีกี่อย่าง เดี๋ยวแจกไปให้ตอนท้ายนะ
30:20 ถาม_ตอบ : วิธีวัดความก้าวหน้าทางธรรม
33:40 ถาม_ตอบ : วางจิตอย่างไรในสังคมปัจจุบัน
##โยมถาม การให้ความสำคัญกับการเจริญทางวัตถุ การแข่งขัน ให้รางวัล จัดลำดับ ยศ ตำแหน่ง ต่างๆ ที่มีในสถาบันต่างๆ หน่วยงาน /องค์กรต่างๆ ในทิศทางที่สอดคล้องทางเดียว และอาจกล่าวได้ว่า ผู้คนที่อยู่ภายใต้กระแสดังกล่าว มีจำนวนไม่น้อย ที่สร้างความแข็งแรงกับระบบดังกล่าวจึงเป็นกระแสหลักที่เป็นอยู่ในสังคมเมือง ....คำถาม หากการไม่เดินไปกับสิ่งล่อ ที่มาในรูปแบบต่่างๆ ซึ่งการเผชิญหน้ากับกระแสหลัก ดังกล่าว ควรทำความเข้าใจกับตนเอง และคนรอบข้าง อย่างไร เพื่อให้ไม่ย้อนแย้งกับกระแสวัตถุนิยมดังกล่าว ที่เป็นอยู่ในสังคมเมืองประเทศไทยในปัจจุบัน(Thailand 4.0)
##พอจ.กระสินธุ์ ตอบ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ที่สังคมยกยอให้เกียรติกัน ถ้าเรามีเรื่องเหล่านี้ มีแล้วเราหลงกับมันไหม? ถ้าไม่หลง...ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่มี แล้วอยากให้มี ...... อันนี้คือหลง
ถ้ามีเราก็รับไปตามนั้น แต่ไม่ไปหลง ใจที่ภาวนาฝึกมากเข้าๆ ใจมันจะเข้าใจ พระพุทธเจ้าอุปมาว่า เหมือนเดินอยู่บน กองคูต กองขี้ แต่เท้าไม่ติดพื้น
คนภาวนาที่เข้าถึงจะเข้าใจ เขาให้ตำแหน่งมา เราก็รับไปตามเรื่อง ไม่ได้ขวนขวายที่จะได้ แต่ได้มาด้วยธรรม ด้วยความชอบของมันเอง
เราก็ใช้ประโยชน์จากคนเคารพศรัทธา ช่วยสื่อสะท้อนนำให้คนมาสนใจ ปฎิบัติภาวนามากขึ้น ไม่ใช่หลงไปกับกระแสวัตถุ สรรเสริญเยินยอมากมาย
เราไม่ขัดแย้งกับโลก โลกเขาว่าอย่างไร เราก็ว่าอย่างนั้น แต่อย่าเอาใจไปหลง ไปเสพติดกับมัน
พยายามให้ได้มาด้วยธรรม อย่าใช้เล่ห์เหลี่ยมของเราที่จะแสวงหามัน อย่างนั้นไม่ควรทำ
เรารับไปตามหน้าที่ เมื่อมีอำนาจหน้าที่แล้วใช้จัดการ ทำให้คนดีขึ้น ก็ใช้มันให้เป็นประโยชน์ ......ไม่หลงมัน
สรุปคือไม่ขวนขวาย แต่ไม่ปฎิเสธ และใช้ประโยชน์จากมัน
38:00 ถาม_ตอบ : ทุ่มเทกับการปฏิบัติต้องเป็นอย่างไร
วันที่ 12 มิถุนายน 2563 ณ ห้องไลน์ฟังธรรม
ช่องทางอื่นๆในการรับสื่อธรรมะ
YouTube, FaceBook พระอาจารย์กระสินธุ์
Podcast : รู้ขณะเดียว
ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านที่ติดตามรับฟัง..สาธุ
Comments (0)
To leave or reply to comments, please download free Podbean or
No Comments
To leave or reply to comments,
please download free Podbean App.