Episodes
Friday Aug 21, 2020
เท่าทันการกระทบ เห็นใจทำงาน พจ.กระสินธุ์ 090863
Friday Aug 21, 2020
Friday Aug 21, 2020
โครงการรู้ขณิกะออนไลน์ คอร์สพัฒนาตัวรู้ ภาคฝืน3
โดย พระอาจารย์กระสินธุ์ อนุภัทโท
นำปฏิบัติร่วมกันวันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม 2563 เวลา 05:00-05:30 น. ณ ห้องกลุ่มไลน์
* * * * * * * * * * * * * *
เจริญพรญาติโยมทุกคน ที่เราได้ตื่นขึ้นมา ตั้งใจทำในเรื่องเดียวกัน เพื่อให้เกิดกำลังใจ
ในการส่งกำลังใจซึ่งกันและกัน ที่จะชักนำให้จิตใจได้มีกำลังต่อสู้กับอุปสรรคของชีวิต ปัญหาของชีวิต ที่ต้องเผชิญอยู่ในทุก ๆ วัน การตื่นขึ้นมาเพื่อเตรียมตัว เตรียมจิต เตรียมใจที่จะมารับเอาบุญกุศลของการภาวนาน่ะ มันเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่ทุกคนก็ขวนขวายที่จะทำให้เกิดกุศลแก่ตัวเอง เป็นอานิสงส์อันหนึ่ง ฉะนั้นอานิสงส์การภาวนาจึงเป็นอานิสงส์ที่ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ง่าย ๆ
นอกจากคนที่ตั้งใจฝักใฝ่ที่จะฝึกฝนตนเองจริง ๆ เหมือนกับพวกเรานี่แหละเมื่อตื่นขึ้นมาแล้วก็พยายามนะ พยายามสำรวจรับรู้ รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราในตอนนี้ นึกขึ้น ตรึก พอตื่นขึ้นมาแล้ว สัมผัสความรู้สึกตัวให้ดี ๆ ว่า อะไรกำลังเกิดขึ้นก่อนที่เราจะภาวนา ก่อนที่เราจะสร้างจังหวะ
ลองสำรวจดูซิว่า ตอนนี้เรารับรู้อะไรได้บ้างที่มันกำลังเกิดขึ้นเอง และกำลังรับรู้เอง โดยไม่มีความรู้สึกว่าเราต้องทำมัน จะเป็นการนั่ง หรือการเดิน ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาปั๊บ ถ้าเราสำรวจดี ๆ เราจะมีความรู้สึก เห็นการทำงานของร่างกายอยู่ตลอดเวลา บางครั้งตื่นขึ้นมาปุ๊บก็เห็นการทำงานของจิตใจ ให้เห็นการทำงานของจิตใจที่มันกำลังรับรู้ความคิด กำลังเห็นอารมณ์ที่งัวเงีย ง่วงซึม ไม่อยากลุกจากที่นอน แต่อาศัยการฝึก ลุกขึ้นมาล้างหน้าแปรงฟัน เข้าห้องน้ำ อารมณ์ที่งัวเงียนั้นก็จะหายไป
ให้เราสังเกตว่ามันเป็นการมาแสดงลักษณะท่าทางและตัวตนของอารมณ์นั้น ๆ แต่ถ้าเราไม่ฝืนลุกขึ้นมา เราก็จะจมแช่ไปกับมัน แล้วก็หลงไปเป็นอารมณ์เดียวกับเขา แต่ถ้าเราลุกขึ้นมาปุ๊บ เราก็จะเห็นอารมณ์ของการอิดออด เหตุผลสารพัดที่มันจะสร้างเรื่องขึ้นมาให้เราไปร่วมเสพกับมันด้วย แต่พอเรากลับมี ฝึกที่จะรู้การทำงานของมันมากเข้า ๆ เราจะเห็นว่ามันทำงานกันเอง ความคิดมันทำงาน อารมณ์มันทำงาน แต่เราเป็นแต่เพียงผู้ดูการทำงานเท่านั้น นี่คือส่วนภายใน
ส่วนภายนอกก็จะมีร่างกายที่กระทบกับอาการที่เกิดขึ้น เย็นบ้าง อุ่นบ้าง นิ่มบ้าง แข็งบ้าง เคลื่อนไหวบ้าง กระพริบตาบ้าง หายใจบ้าง ที่เป็นอาการที่มากระทบกับร่างกาย ที่ร่างกายเรากำลังรับรู้อยู่ กับเรื่องเฉพาะหน้า บางครั้งเราอาจจะมีการรับรู้การทำงานของหูที่มีเสียงมากระทบ หรือถ้าเราปิดไฟ เราก็จะรับรู้การทำงานของตาที่เห็นแสงสว่างบ้าง มืดบ้าง แต่ถ้าเราเปิด เราก็จะเห็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ต่อหน้า เนี่ย
ให้สำรวจก่อนว่าตาทำงานอย่างไร หูทำงานอย่างไร กายทำงานอย่างไร แล้วก็ใจ เขาทำงานอย่างไร เพื่อถ้าเรารับรู้การทำงานของตา หู จมูก ลิ้น กายแล้วก็ใจ เยอะๆ เนี่ย อีกใจหนึ่ง มันจะมีใจสองใจ ใจที่ทำงานและใจที่รู้การทำงาน ใจที่รู้การทำงานจะไม่ทำงาน แต่จะเห็นการทำงาน เหมือนใจที่รับรู้อารมณ์
อารมณ์มันทำ แต่ใจรับรู้ไป
ให้ฝึกซ้อมตัวนี้บ่อย ๆ ถ้าเราสัมผัส บางครั้งเราทำไป เราก็จะเห็นความคิดมันทำงาน เวลามันคิดขึ้นมา อ้อ นี่คือความคิดมันทำงาน ใจก็จะเห็นว่าความคิดนี้ทำงาน บางครั้งมันไม่พอใจ อ้อ ความไม่พอใจกำลังทำงานอยู่ เวลาความพอใจเกิดขึ้น ก็เห็นความพอใจทำงานอยู่
หรือบางครั้งเราฝืนเรื่องใดเรื่องหนึ่งปุ๊บ ตั้งใจฝืนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง พอเรื่องนั้นเกิดขึ้นมาปุ๊บ เราก็เห็นเห็นการทำงานของมัน มีทั้งเหตุผล มีทั้งอารมณ์ มีทั้งความอยาก มีทั้งวิธีการ มีทั้งอุบายมีทั้งเล่ห์เหลี่ยมที่จะคอยดักหลอกจิตเราไปติดกับมัน และในการฝืนของเรา ทำให้เราเข้มแข็ง รู้อุบาย รู้เล่ห์เหลี่ยม รู้วิธีการ รู้ความคิดเหตุผล ที่มันคอยดักพรั่งพรูเข้ามาให้เรา สารพัดเรื่อง แต่เราก็ยังสงบนิ่ง
เฝ้าดูการทำงานของมัน
วิธีการที่จะสังเกตการเฝ้าดูการทำงาน เราจะต้องฝึกตัวรับรู้การทำงานให้มาก รับรู้การทำงานของมัน ยิ่งรับรู้การทำงานของตา หู จมูก ลิ้นกาย แล้วก็ใจ ที่คอยดักรับรู้เรื่องราวของรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสและอารมณ์ได้มากเท่าไหร่ จิตเราจะหยุดการทำงานมากเท่านั้น บางครั้งน่ะ จิตเราน่ะ
แม้แต่จะทำภาวนา มันก็ยังทำงานอยู่ เพราะมันตั้งใจทำภาวนา มันไม่ได้ตั้งใจรับรู้การภาวนา หัดรับรู้การภาวนา คือตัวรับรู้การทำงานของมัน อย่างสร้างจังหวะนี่ แล้วลองฝึกการทำงานของร่างกายดูซิ
เห็นอาการลักษณะ เวลาเราจะสังเกตว่าจิตมันรับรู้การทำงานตา หู จมูก ลิ้นกาย มันรับรู้การทำงานของรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสได้ชัด ๆ นะ เป็นอย่างไร ถ้าเรารับรู้ได้ชัด ๆ จะเห็นว่า เมื่อยกตัวอย่างเช่นในขณะนี้
ถ้าเรารับรู้การทำงานของร่างกาย โดยไม่จมไปกับการเคลื่อนไหว เราจะเห็นชัด ๆ เลยว่า อาการเคลื่อนไหวเป็นลักษณะหนึ่ง อาการยกขึ้นแล้วมีอาการหนักก็เป็นอีกลักษณะหนึ่ง อาการหยุดนิ่งก็เป็นอีกลักษณะหนึ่ง อาการที่เอามือมากระทบกับหน้าท้อง กับเสื้อผ้า ก็เป็นอีกลักษณะหนึ่ง
อันนี้เขาเรียกว่าเรากำลังรับรู้การทำงานของร่างกาย เห็นอาการของเคลื่อนไหวมากกระทบกับร่างกาย อาการหนักเบามากระทบกับร่างกาย อาการหยุดมากระทบกับร่างกาย อาการที่มือมากระทบกับอวัยวะต่าง ๆ ที่มันเกิดสัมผัสมากระทบกับร่างกาย เดี๋ยวใครเดิน ก็จะต้องมีอาการ
การทำงานของร่างกายและเห็นอาการเดินเกิดขึ้นกับร่างกาย อาการยกเกิดขึ้นกับร่างกาย อาการหนักเกิดขึ้นกับร่างกาย อาการนิ่งเกิดขึ้นกับร่างกาย อาการกระทบเกิดขึ้นกับร่างกายนี่ เราจะมีอาการอีกเยอะแยะที่กำลังกระทบอยู่กับร่างกาย อาการอุ่น อาการเย็น อาการนิ่ม อาการแข็ง อาการเต้นของหัวใจ แล้วก็อาการ ในร่างกายกำลังหายใจ กำลังกระพริบตา กำลังกลืนน้ำลาย กำลังขับถ่าย
เราตื่นขึ้นมามันก็จะมีอาการของร่างกายที่รู้สึกเป็นการเจ็บท้อง ขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะ นี่เขาเรียกว่ารับรู้การทำงานของร่างกาย จะเห็นลักษณะของอาการแต่ละอย่างที่มากระทบของมัน จุดนี้น่ะ จะเป็นจุดยืนยันได้ว่า เรากำลังรับรู้อาการที่เกิดขึ้นกับร่างกายจริง ๆ
ทีนี้ถ้าหูเหมือนกัน ถ้ามันทำงานจริง ๆ จะรับรู้ลักษณะของเสียงที่เกิดขึ้น ตาก็จะรับรู้รูปภาพที่ปรากฏต่อหน้า จะเป็นสีสัน รูปลักษณ์ ขนาด ความใหญ่ ความเล็กที่กำลัง ปรากฏขึ้นอยู่
ส่วนถ้าเราไปรับรู้ใจ ใจที่รับรู้ใจที่รับรู้การทำงานของอารมณ์ก็จะเห็นลักษณะของอารมณ์
อารมณ์อยากเป็นอย่างนี้ อารมณ์ฟุ้งซ่านเป็นอย่างนี้ อารมณ์เบื่อเป็นอย่างนี้ อารมณ์หดหู่เป็นอย่างนี้
อารมณ์อึดอัดขัดเคืองเป็นอย่างนี้ อารมณ์ขี้เกียจเป็นอย่างนี้ อารมณ์ง่วงซึมเป็นอย่างนี้ ลักษณะของความง่วง การซึม หรือบางครั้งจะมีอารมณ์ตื่นขึ้นมา จะเป็นอารมณ์สงบ อารมณ์เบาสบาย อารมณ์ที่นิ่ง
อารมณ์ที่ทำให้จิตใจสบาย เห็นลักษณะของอารมณ์ที่มันเข้ามา
อันนี้ เขาเรียกว่าใจไม่ทำงาน แต่ใจเห็นลักษณะที่มันทำงาน มันจะต่างกับใจที่เข้าไปร่วมกับอารมณ์ ถ้าใจที่เข้าไปร่วมกับอารมณ์แล้วไซร้ มันจะไม่เห็นลักษณะของอารมณ์ มันจะเข้าไปร่วม
ฉะนั้นทำให้เราฝึกฝืน ฝึกฝืนอุปนิสัยอันหนึ่ง คืออุปนิสัยที่เข้าไปทำงาน เข้าไปร่วมกับอารมณ์
เข้าไปทำงานตามอารมณ์ ที่เราเป็น ที่เราเคยติดกันเป็นนิสัยจนเป็นร่องลึก เวลามีอารมณ์อะไรเกิดขึ้นมา ก็ตอบโต้ ต่อต้าน หรือไม่ก็ไหลตาม ไม่เคยหยุดนิ่ง ที่จะดูมันทำงานกัน เรากำลังจะดูธรรมชาติเขาทำงานกัน และทุกเรื่องก็จะมีการถูกกำจัดเรื่องราวในตัวเองเสร็จ กฎของธรรมชาติเขาก็จะทำงาน
กฎของความทุกข์ในเรื่องนั้น ๆ เขาก็ทำงาน คือความบีบคั้น อึดอัดขัดเคือง
กฎของความเปลี่ยนแปลงไม่คงตัวอยู่ได้เสมอ ๆ เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เขาก็จะทำงาน
กฎของอนัตตาคือเดี๋ยวเขาก็หายไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ เรื่องดี เรื่องไม่ดี หยาบ กลาง ละเอียด
อดีต อนาคต เลว ประณีต ใกล้ไกล ผลสุดท้ายดับสลายหมด นี่เขาเรียกกฎของไตรลักษณ์เขาก็ทำงานของเขา ถ้าเรารู้เขาอย่างลึกซึ้งแล้ว จิตของเราจะหยุดนิ่ง เหมือนบุคคลหนึ่งที่มีลูกน้องทำงานแทน ตัวเขาเองก็เลยไม่ต้องทำอะไร เห็นลูกน้องมันทำงานกัน เห็นลูกมือมันทำงานกัน แต่ละเรื่องแต่ละราว
ฉะนั้นการจะฝึกภาวะของตัวรู้ให้มันอยู่ในปัจจุบันเนี่ย ให้มันระลึกถึงเรื่องเฉพาะหน้า เฉพาะหน้า
คำว่าอยู่กับปัจจุบัน ปัจจุบันมันไม่มี มีแต่ปัจจุบันคือสิ่งที่กำลังเกิดการไหลผ่าน อนาคตกำลังผ่านไปเป็นอดีต นั่นแหละเขาเรียกปัจจุบัน ปัจจุบันคือภาวะของอารมณ์ที่ไหลผ่าน
ฉะนั้นเวลาเราฝึกให้มันเท่าทันการกระทบ ก็เห็นการไหลผ่านของมันไปเรื่อย ๆ คนไหนที่เห็นการไหลผ่านของอารมณ์ไปเรื่อย ๆ คนนั้นแหละเกาะติดกระแสอารมณ์ปัจจุบันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ที่มันกำลังไหลผ่าน เสียงผ่านหู รูปผ่านตา กลิ่นผ่านจมูก รสผ่านลิ้น
กายกำลังผ่านการเคลื่อนไหวที่ว่า ไหวบ้างผ่านไป หยุดบ้างผ่านไป หนักบ้างผ่านไป เบาบ้างผ่านไป กระทบบ้างผ่านไป แล้วใจกำลังเห็นความคิดผ่านไปเรื่อย ๆ ถ้าเราฝึกแล้วเราจะเห็นได้ชัดว่า ข้างในน่ะ จะเป็นเรื่องอดีตกับอนาคตที่มันกำลังเกิดขึ้นมาเพื่อไหลผ่าน แต่ภายนอกทั้งหมดน่ะ เป็นเรื่องเฉพาะหน้าในเรื่องของปัจจุบัน
ฉะนั้นเรากำลังพยายามฝึกภาวะของการตื่นรู้ขึ้นมาเพื่อรับรู้การทำงานของมัน จำหัวใจอันนี้ดี ๆ
ฝึกให้มันตื่นรู้ขึ้นมาเพื่อรับรู้การทำงานของมัน ทุก ๆ วัน ทุก ๆ ขณะ ยิ่งรับรู้มากเท่าไหร่ รับรู้การทำงานของมันได้มากเท่าไหร่ แล้วใจเข้าไปไม่เข้าไปแทรกแซง ไม่เข้าไปประคอง ไม่เข้าไปจัดการมากขึ้น นั่นแหละ จะเป็นภาวะของความสงบ สงบที่รู้เห็นตามความเป็นจริง
มันจะเป็นความสงบที่ท่ามกลางสิ่งที่เคลื่อนไหวรอบ ๆ ตัวมัน และจะเป็นความสงบแท้ ที่สามารถสงบได้ทุก ๆ เหตุการณ์ เพราะใจไม่ได้ทำงานอะไร
ฉะนั้นขอให้ทุกคนพยายามฝึกฝืน ศึกษา เรียนรู้จุดนี้ให้ดี ๆ คือการฝึกหัดรับรู้การทำงานของอายตนะ รับรู้การทำงานของสิ่งที่มากระทบกับอายตนะ ไปสังเกตให้ดี ๆ ว่าถ้ามัน
ตามันรับรู้จริง ๆ เนี่ย มันรับรู้แค่ รูป รูปนั้นก็รับรู้แค่ สีสัน ลักษณะ ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง
หูเหมือนกัน ก็รับรู้เสียง ที่เป็นลักษณะของเสียงที่มากระทบ เสียงต่ำบ้างแหลมบ้าง จมูกก็เหมือนกัน มันก็จะรับรู้ลักษณะของกลิ่นที่มากระทบ ลิ้นก็จะรับรู้ลักษณะของรสที่มากระทบ มันทำงานแค่นี้ กายก็รับรู้ลักษณะของสิ่งที่มากระทบกับมัน เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อุ่นบ้าง นิ่มบ้าง แข็งบ้าง
อาการยืน เดิน นั่ง นอนบ้าง ลักษณะของมัน ไหวบ้าง เคร่งบ้าง การเคลื่อนไหวนานาชนิดก็เป็นลักษณะหนึ่ง ที่มันมากระทบร่างกาย ก็รับรู้ไป
ส่วนจิตใจก็เหมือนกัน ก็รับรู้ความคิดนึก รับรู้อารมณ์ ลักษณะของอารมณ์ โกรธเป็นอย่างนี้
เหมือนจิตมีราคะ ก็รู้ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะ ก็รู้ว่าไม่มีราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีโทสะ ก็รู้ว่าไม่มีโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่ามีโมหะ จิตไม่มีโมหะ ก็รู้ว่าไม่มีโมหะ รับรู้ลักษณะของโทสะ โมหะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน สงบนิ่ง นี่เป็นลักษณะของอารมณ์ที่มากระทบกับจิตอยู่ตลอดเวลา ที่เป็นความคิด ที่เป็นอดีตอนาคต แล้วเราก็จะเห็นการทำงานของไตรลักษณ์ ที่เขาทำงานของเขาอยู่เรียบร้อยแล้ว โดยเราไม่ต้องไปทำอะไรเลย เพียงแต่เราทำหน้าที่ของเราให้ถูกต้อง คือการรับรู้และไม่รีบทำอะไร และดูเขาทำงานไป เปิดใจกว้าง ๆ ยอมรับเหตุการณ์ทุกเหตุการณ์ แต่อย่าเข้าไปร่วมในเหตุการณ์นั้น แต่เป็นคนที่จะดูเหตุการณ์นั้น
ที่ครูบาอาจารย์บอกอยู่เสมอ ๆ ว่า เป็นผู้รู้ ผู้ดู เหมือนเราไปดูเขาเล่นกีฬา ดูเขาต่อยมวย คนต่อยมันก็เจ็บ แต่เราไม่ได้เจ็บ ดูเขาเล่นบอล คนเล่นก็เหนื่อย แต่เราไม่ได้เหนื่อย เราก็เชียร์อยู่ข้างนอก
เหมือนเรานี่แหละ เราใช้ลูกน้องทำงาน เราก็แค่ตรวจสอบดูการทำงานของมัน นี่แหละ เราจะได้ความสงบนิ่ง มาแบบสบาย ๆ ท่ามกลางปัจจุบันที่กำลังเผชิญกับอารมณ์ต่าง ๆ เพราะว่า เราจะเห็นว่าอารมณ์มันทำงานของมันทั้งหมดเลย ทุกอย่างมันจะปรุงแต่งกันขึ้นมา
ผลสุดท้ายแล้วมันจะมีเหลือแค่ธาตุ 4 กับขันธ์ 5 มันปรุงแต่งกัน มันปรุงแต่งเป็นอารมณ์แบบนั้น แบบนี้
แบบโน้น แต่ใจเราน่ะ แค่ตื่นขึ้นมา รับรู้ การปรุงแต่งของมัน การรับรู้การปรุงแต่งของมัน ได้เต็มที่ จิตจะไม่ปรุงแต่ง แต่จิตที่เราปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลา คือจิตเรายังไม่รับรู้การปรุงแต่งของมัน เราพยายามปรุงแต่ง สร้างสรรค์สิ่งที่ตัวเองชอบ พอใจ รังเกียจสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบไม่พอใจ
ก็ขอให้พวกเราฝึกตัวนี้ให้ชำนาญ ให้เท่าทันการกระทบ ให้เท่าทันเรื่องเฉพาะหน้าให้เท่าทันการไหลผ่าน ให้เท่าทันในการเห็นการทำงานของสิ่งรอบตัวอยู่ตลอดเวลา แล้วจิตเราจะสงบนิ่งไม่ทำอะไรเลย แต่มีความรู้มากมายปรากฏเกิดขึ้น จากจุดนี้ มีความรู้ มีความเข้าใจ มีการยอมรับ แล้วก็มีการเป็นอยู่อย่างอิสระได้มากขึ้น
ขอให้พวกเราพยายามที่จะสร้างกุศลให้ตัวเอง โดยการลุกขึ้นมาภาวนา กุศลในการให้ทาน ก็เป็นกุศลอันหนึ่งที่เราขวนขวายทำอยู่ กุศลในการรักษาศีลที่เราพยายามควบคุมกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ก็เป็นกุศลอันหนึ่ง และกุศลอีกอันหนึ่งคือกุศลภาวนา พาใจออกจากทุกข์ พาใจออกจากทุกข์ พาใจพ้นทุกข์ พาใจให้เป็นอิสระจากทุกข์ได้ นี่ก็เป็นกุศลอีกอันหนึ่ง ที่เป็นกุศลมหาศาล ที่เราทุก ๆ คนกำลังทำกันอยู่
ขอให้ทำไปเรื่อย ๆ จนมันได้อุปนิสัย ถ้ามันได้อุปนิสัยแล้ว มันจะเป็นเรื่องสบาย แต่ถ้ายังไม่ได้อุปนิสัย จะเป็นเรื่องลำบาก ก็ขอให้ตั้งใจที่จะสะสมกุศลให้ตัวเอง อย่างน้อยก็เอาเป็นเสบียงเลี้ยงเราไปแต่ละวัน ๆ แต่มันก็มีผลไปสู่ภพภูมิเบื้องหน้าอยู่เรื่อย ๆ ถ้าภพภูมิเบื้องหน้าคือวันข้างหน้า เราจะเห็นได้ว่าบุคคลที่ได้ภาวนานี่ มันมี ได้ทำทุก ๆ วันเนี่ย วันข้างหน้าเขาก็จะเข้าใจเรื่องราวของชีวิตของตัวเอง และอยู่กับความทุกข์ได้อย่าง อยู่อารมณ์ได้อย่างที่ไม่ตกเป็นทาสของมัน ถึงแม้มันตกเป็นทาสของมัน แต่ก็มีวิธีการที่จะจัดการ ที่จะออกจากมัน
แต่ถ้าบุคคลหนึ่งไม่เคยฝึกฝนเลยในวันนี้ อนาคตเบื้องหน้าหรือวันหน้า เขาก็จะตกไปสู่อบาย คือความทุกข์ยากลำบากของชีวิตในแต่ละวัน มีความสุข แต่ความสุขนั้นเจือด้วยความทุกข์มากมายมหาศาล เหมือนตกนรกทั้งเป็น ฉะนั้นเราน่ะ มีจังหวะดี มีโอกาสดีกว่าพวกที่เขาไม่ได้ทำกัน
เราได้เตรียมจิตเตรียมใจได้ฝึกจิตฝึกใจในแต่ละวัน ๆ ฉะนั้นอย่าไปหาความสุขกับการตกไปในอารมณ์ หาความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ กับเหยื่อล่อของอารมณ์ หลอกให้เราหลง และสำคัญมั่นหมายว่านั่นคือความสุขที่เราต้องการ เมื่อเราได้มันมาแล้ว แล้วอย่างไรล่ะ มันก็หายไปเหมือนเดิม เราก็ต้องตะเกียกตะกายสร้างขึ้นมาใหม่ แต่แล้วอย่างไรอีก มันก็จบไปเหมือนเดิม ไม่เหมือนกับเราว่า ไม่ต้องไปทุรนทุรายอยากได้ความสุขนั้น เป็นอิสระจากความสุขนั้น และก็มีความสุขมากกว่า มีความสุขถาวรกว่า เพราะว่าเราอยู่เหนือความสุขแล้ว มันเป็นความสุขที่เป็นอิสระ พยายามสะสมทุก ๆ วันให้เหมือนกับว่าเราเตรียมวันนี้ เพื่อไปเกิดวันพรุ่งนี้ หลังจากตายเมื่อกายแตกแล้ว มันก็จะมีที่ไปที่ดีขึ้น ภพภูมิที่ดีขึ้น
ฉะนั้นการทำวันนี้ มันเหมือนกับการทำทิ้งทำขว้าง แต่มันจะฝังไปในอุปนิสัยของจิตอยู่เรื่อย ๆ ขอให้ทุกคนมีความเข้มแข็ง ที่จะต่อสู้กับชีวิต ที่จะมีการทำงานของอายตนะ มีการทำงานของรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสและอารมณ์อยู่ตลอดเวลา เขาทำไปกันอย่างนี้จนวันตาย มีแต่เราดูเขาทำงานให้ได้ แล้วเราจะสบายจากวันนี้จนวันตาย
ขอให้ทุกคนจงประสบกับสิ่งนี้ ทุก ๆ คน
ขออนุโมทนาในการตั้งใจภาวนา ตื่นขึ้นมาทำร่วมกัน ก็ขอส่งกำลังใจด้วยจิตที่มุ่งมั่นในเรื่องเดียวกัน แบ่งปันให้ทุกคนได้รับกำลังใจอันนี้ด้วย ทุก ๆ คน
ถอดเสียง : จันทร์จิรา ทองไหลรวม
Comments (0)
To leave or reply to comments, please download free Podbean or
No Comments
To leave or reply to comments,
please download free Podbean App.