Episodes
Wednesday Oct 07, 2020
อุบายฝึกนอกรูปแบบ พจ.กระสินธุ์ 200963
Wednesday Oct 07, 2020
Wednesday Oct 07, 2020
โครงการรู้ขณิกะออนไลน์ คอร์สพัฒนาตัวรู้ ภาคฝืน3 (มินิกรุ๊ป)
นำปฏิบัติร่วมกันโดย พระอาจารย์กระสินธุ์ อนุภัทโท
วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน 2563 เวลา 05:00-05:30 น. ณ ห้องกลุ่มไลน์
ทีนี้วันนี้ ในเช้านี้อยากจะให้ ข้อคิดวิธีที่จะนำไปปฏิบัตินอกรูปแบบ ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง เพราะบางครั้งในชีวิตจริง ที่เราต้องทำงาน ในแต่ละคนที่มีหน้าที่ต่างกัน บางคนก็ทำงาน บางคนก็ว่างจากงาน จะได้เอาอุบายในการฝึกฝน ที่จะต้องหาวิธี ฝึกปฏิบัติให้ได้ทุก ๆ สถานการณ์ ไม่ว่าสถานการณ์ภายนอกจะเป็นอย่างไร
ในเบื้องต้นที่เราอาศัยหลักของตัวรู้สึกตัว ที่ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์เป็นหลัก อันนี้คือหลักใหญ่ เป็นแกนกลาง เป็นหลักปฏิบัติที่เราต้องฝึกฝนให้ชำนาญ เพราะหลักของรู้สึกตัวที่อาศัยรูปแบบของการรับรู้ที่มีอยู่ในตัวเราทุกคน ที่เขาเป็นอยู่แล้ว เขามีอยู่แล้ว เขาเกิดอยู่แล้ว เขาทำหน้าที่ของเขาอยู่แล้ว แต่ในการทำหน้าที่ของเขา เขาไม่มีกำลัง ไม่มีพลัง ไม่เกิดร่องของความคุ้นชินในการที่จะฝึกรับรู้ทุกเรื่อง แต่ไม่เป็นไปกับทุกเรื่อง กำลังอันนี้แหละเป็นกำลังสำคัญที่เราต้องฝึก เพราะจิตเขาทำหน้าที่รับรู้ทุกเรื่อง พอเขาไม่มีกำลังในการรับรู้ เขาก็จะเข้าไปเป็นกับทุกเรื่องที่เขารู้ ว่ามันจะเสมือนตัวเขา แต่ในแท้ที่จริงแล้วมันไม่ใช่ มันเป็นสิ่งที่มากระทบกับตัวเขาเอง เราจึงต้องจำเป็นบ่มเพาะอุปนิสัยในการที่จะพัฒนาตัวรู้สึกตัวที่เป็นในรูปแบบของการรับรู้และเรียนรู้ในกายในใจเราให้มากขึ้น แต่ว่าภาวะของตัวรู้สึกตัวที่เป็นการรับรู้อารมณ์นี้ เป็นสภาพที่เป็นนามธรรม เป็นสภาพที่อ่อนไหว เป็นสภาพที่จับต้องได้ยาก เป็นสภาพที่สัมผัสได้ยาก ทั้ง ๆ ที่มันเป็นเรื่องง่าย เพราะเราทุกคนคุ้นชินกับการที่ชอบเป็นไปตามอารมณ์ คุ้นชินกับการที่จะไปกับความคิด ความนึก ไม่คุ้นชินกับการฝึกหัดรับรู้อารมณ์ เราจึงจำเป็นต้องอาศัยส่วนที่เป็นสิ่งที่จับต้องได้ สิ่งที่สัมผัสได้ เป็นที่พึ่ง เป็นที่ฝึกฝน
ทีนี้ สิ่งที่เราจะฝึกฝน คือเราจะต้องฝึกมารู้กาย ฝึกรู้กาย ฝึกรับรู้ทางกาย เพื่อทำให้ เพื่อเสริมกำลังของการรับรู้อารมณ์ทางใจให้เข้มแข็งขึ้น เพราะถ้าเราไม่ฝึกมารับรู้ทางกาย การรับรู้ทางใจ มันจะไหลไปกับเรื่องที่มันรู้เป็นส่วนใหญ่ จนเป็นอุปนิสัยของทุกคน ฉะนั้นเราจึงต้องหันมาสนใจ มาใส่ใจกับการรับรู้ทางกาย ที่เป็นสิ่งที่จับต้องได้ ที่สามารถสัมผัสได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย เขาเรียกว่าหัดมารับรู้ทางรูป ที่มันเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เป็นหลัก เป็นหลักในการฝึก เป็นหลักในการที่จะหัดให้เกิดอุปนิสัย ที่เกิดภาวะรู้สึกตัว ที่จะรับรู้อารมณ์ แล้วก็เรียนรู้อารมณ์ แล้วก็ไม่เข้าไปเป็นกับอารมณ์ ให้เกิดขึ้น ถ้าไม่เป็นเช่นนี้ วิถีชีวิตภาวนาเรา จะลุ่ม ๆ ดอน ๆ จะไม่พบกับความเป็นอิสระหรือเป็นสุขท่ามกลางความทุกข์ที่เกิดขึ้นที่รายล้อมรอบ ๆ จิตใจเรา
ฉะนั้นหลักการในการที่จะฝึก ที่จะรับรู้ทางกายในเบื้องต้น เราต้องมาหัดให้รู้สึกแบบที่เราทำขึ้นคือส่วนหนึ่ง ที่ทุกคนกำลังทำอยู่ คือการสร้างจังหวะ หรือกำลังเดินจงกรมในรูปแบบของ 14 จังหวะ ที่จะสนใจการเคลื่อนไหว แต่อยากจะชี้แนะวิธีการรับรู้แบบธรรมชาติที่เป็นนอกรูปแบบในวันนี้
เวลาเราจะสนใจทางกายน่ะ ต้องแยกให้ได้ ต้องสังเกตให้เป็น ว่าอันไหนคือตัวกาย และตัวสิ่งที่มาอาศัยร่างกายเกิด ถ้าเราสังเกต 2 ตัวนี้เป็น ความรู้สึกตัวที่คอยดักรับรู้เรื่องที่เกิดกับร่างกาย จะเกิดง่ายขึ้น ในสิ่งที่มาอาศัยตัวกายจริง ๆ คืออวัยวะของเราทั้งหมดที่มีอยู่ แขน ขา ตีน มือ ตัว ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง หรืออาการ 32 ของร่างกาย ที่มีแขน ขา ตีน มือ สิ่งเหล่านี้เป็นตัวของร่างกายล้วน ๆ ที่เขาไม่ได้แปรเปลี่ยนไปกับสิ่งที่มาปรุงแต่งกาย เราต้องยึดหลักก่อน ต้องสังเกตก่อนว่า ตัวกายล้วน ๆ เป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ เป็นแบบนี้ เป็นแค่ขณะนี้ เมื่อเราเห็นชัด เราจะเห็นชัดว่า สิ่งที่ไม่ใช่ตัวกาย แต่มาปรุงแต่งกายที่เกิดขึ้น เป็นอีกสิ่งหนึ่ง เป็นอีกอย่างหนึ่ง เป็นอีกแบบหนึ่ง ที่ไม่เหมือนกับตัวกาย
นัยยะเบื้องต้น เรารู้จักแล้วว่านี่คือตัวกาย คืออาการ 32 ที่มีอวัยวะครบถ้วน แล้วก็มีรูปแบบในตัวเองมันเสร็จ ขาเป็นอย่างไร แขนเป็นอย่างไร ตัวเป็นอย่างไร ผมเป็นอย่างไร ฟันเป็นอย่างไร เล็บเป็นอย่างไร หนังเป็นอย่างไร อาการ 32 เป็นอย่างไร เขามีลักษณะที่เป็นตัวตนของเขาเสร็จเรียบร้อยแล้ว นี่คือโครงของตัวกาย
ต่อมาเรามารับรู้สิ่งที่ไม่ใช่ตัวกาย เช่นอาการที่เกิดกับกาย เอาอาการใหญ่หลัก ๆ ก่อน ให้เราเข้าใจ คืออิริยาบถทั้ง 4 คืออาการยืน อาการเดิน อาการนั่ง อาการนอน ลักษณะของการยืน เดิน นั่ง นอน นี่เป็นลักษณะหนึ่งที่ไม่ใช่ตัวกาย แต่อาศัยกายเกิด เวลาเราสวดสติปัฏฐาน 4 พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เรารู้จักว่า ยืนให้รู้ว่ายืน เดินให้รู้ว่าเดิน นั่งให้รู้ว่านั่ง นอนให้รู้ว่านอน อันนี้เป็นอิริยาบถใหญ่ ที่พวกเราไม่ค่อยรู้สึก พวกเราจะรู้สึกอยู่เสมอ ๆ ว่า อิริยาบถใหญ่ทั้ง 4 ยืน เดิน นั่ง นอนนี้คือตัวกาย ไม่เคยรู้สึกว่า มันคือสิ่งที่มาอาศัยกายเกิด มันไม่ใช่ตัวกาย เพราะลักษณะมันไม่เหมือนกัน เวลาเราเปลี่ยน เปลี่ยนท่าไป มันจะปรากฏได้ทีละท่า เช่นบางคนอยู่ในท่านั่ง อาการนั่งมันอาศัยกายเกิด อาการยืน อาการเดิน อาการนอนก็จะหายไป หรือแม้แต่บางครั้งอาการนอนเกิดขึ้นมา อาการนั่ง อาการยืน อาการเดินก็จะหายไป เขาจึงมาอาศัยการเกิดกันแต่ละขณะ แต่ละช่วง แต่ละเวลา แต่ละโอกาส
อันนี้เป็นอิริยาบถใหญ่ที่เราสามารถนำมาฝึกได้ ฝึกมารับรู้ได้ ในลักษณะอิริยาบถใหญ่ ที่เป็นไปในวิถีชีวิตอยู่แล้ว แต่เราไม่สนใจ แต่เราไม่ใส่ใจ แต่เราไม่เคยฝึกรับรู้ลักษณะของมันอย่างชัด ๆ อย่างที่มันเป็น เรามัวแต่เพลิดเพลินไปกับเรื่องที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น หรือแม้แต่ความคิดนึก จึงไม่ลึกซึ้งกับการสัมผัสมัน
ทุกคนลองฝึกดู หัดรับรู้อาการที่มันปรากฏ ยืน เดิน นั่ง นอน ที่มันเป็นอาการที่มาปรุงแต่งกาย แต่ในอิริยาบถใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการนั่ง หรือการยืน การเดิน การนอนก็ตาม มันก็จะมีอาการที่เป็นอาการเล็ก ๆ เกิดขึ้น ผสมผสานกันไปกับอาการยืน เดิน นั่ง นอนนั่นแหละ กรณีของใครบางคนที่กำลังอาจจะนั่งสร้างจังหวะอยู่ อยู่ในท่าใดท่าหนึ่ง ในอาการนั่งนั้น เราก็จะเห็น
อาการเคลื่อนไหวที่เป็นอาการหนัก ที่เป็นอาการไหว ที่แขนที่มันมาอาศัยแขนเกิด แล้วก็หายไป
หรือบางครั้งจะเป็นอาการนิ่ง ที่มาอาศัยการเกิดแล้วก็หายไป
หรือบางครั้งจะเป็นอาการหนัก อาการเบาที่มาอาศัยแขนเกิด
หรือบางครั้งจะเป็นอาการกระทบของฝ่ามือ เวลาเราสร้างจังหวะ หรือเวลาฝ่ามือเราไปกระทบกับอะไร
จะเป็นอาการเย็น อาการอุ่น อาการนิ่ม แล้วแต่มันจะปรากฏ แต่มันปรากฏในอาการของร่างกายที่กำลังนั่งอยู่
แล้วยังมีอีกเยอะแยะบางครั้งมันเจ็บ บางครั้งมันปวด บางครั้งมันเมื่อย บางครั้งมันอุ่นบางครั้งมันร้อน บางครั้งมันเย็น บางครั้งมันมีการกระพริบตา บางครั้งมีการหายใจ
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่อาศัยกายเกิดทั้งนั้นเลย ไม่ว่าเราจะทำกิจกรรมอื่น ๆ จะมีอิริยาบถใหญ่ แล้วก็อิริยาบถย่อยที่เป็นสัมปชัญญะบัพพะ คู้ เหยียด เคลื่อนไหว เหลียวซ้าย แลขวา ก้ม เงย เดินหน้า ถอยหลัง เวลากิน เวลาดื่ม เวลาเคี้ยว เวลาลิ้ม เวลาเจ็บอุจจาระ ปัสสาวะ นี่เป็นอาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่เราตื่น ตื่นขึ้นมาปุ๊บ อาการเหล่านี้ก็จะรอท่า แต่เราไม่ยอมรับรู้ เราไปรับรู้อารมณ์และความคิดเป็นหลัก จิตจึงไม่มีกำลังในการที่จะรู้แล้วไม่เข้าไปร่วม มีแต่รู้อะไรก็เข้าไปร่วมอันนั้น เราจึงต้องฝึกหัด
และวิธีฝึกหัดอีกอันหนึ่ง ที่เป็นธรรมชาติก็คือ ให้อาการเหล่านี้เกิดขึ้นมาก่อน แล้วเรารู้ไป อาการต่าง ๆ นี้เกิดขึ้นมาก่อน แล้วเราหัดรู้ไป ไม่ต้องไปตั้งใจที่จะรู้ก่อนเขาเกิด ให้เขาเกิดก่อนแล้วทำหน้าที่รับรู้ ให้อย่างมั่นคง ให้เขาเกิดมา เพื่อฝึกการรับรู้ของเราให้มั่นคง จนกระทั่งกำลังของตัวรับรู้ของเราเองมีกำลังในการที่จะแยกตัวเองออกมาเป็นอิสระ เอาสิ่งต่าง ๆ มาเป็นแค่เครื่องมือฝึกในการรับรู้ทั้งหมดเลย ไม่มีการจัดการ ไม่มีการแทรกแซง แต่มีแต่การศึกษา แต่มีแต่การเรียนรู้ เพื่อพาจิตเขาไปสัมผัสมันตรง ๆ ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ตัวเขา สู่ตัวเขา ไม่ใช่สิ่งเหล่านี้ แต่ตัวเขากำลังทำหน้าที่รู้สิ่งเหล่านี้อยู่
ฉะนั้นในเบื้องต้นในแต่ละวัน ให้เราหัด เราจะอยู่ในอิริยาบถใหญ่เป็นหลัก แล้วหัดรู้เขาบ่อย ๆ คนไหนที่มีจิตที่เป็นอุเบกขา มีกำลังเพียงพอเนี่ย ถ้าเขารู้อิริยาบถใหญ่ได้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน ด้วยจิตที่เป็นกลาง ไม่มีการต้านและไม่มีการตาม แต่มีการรับรู้อยู่ ถ้าเขารับรู้ได้ต่อเนื่องและยาวนาน พละกำลังของสมาธิจะตามมา เพราะสมาธินี่ เขาต้องการทำให้จิต หัดรู้ลักษณะเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้นาน ๆ แต่บนพื้นฐานของการไม่ได้บังคับ เป็นพื้นฐานของการจะรับรู้มันสบาย ๆ ไม่ได้เอาผิดเอาถูก หรือไม่ได้ยึดจะเอาดีเอาชั่วอะไรกับมัน
ฉะนั้นในอิริยาบถใหญ่ บางครั้งเราจะรู้อิริยาบถนั้น บางคนนั่งทำงานอยู่ อาจจะรับรู้การนั่งของตนเองเป็นหลัก แล้วก็สัมผัสอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นมาในรอบ ๆ ตัวที่เป็นทางกาย ที่กำลังปรุงแต่งกาย เช่นร้อน เช่นเย็น เช่นนิ่ม เช่นแข็ง เช่นกระพริบตา หายใจ ร้อน เย็น เคลื่อนไหว ไปหยิบจับอะไรต่าง ๆ นี้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่มาอาศัยการเกิด แล้วเขาก็จะจากไป เกิดดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เราจะได้ฝึกหัดทำให้ใจเราน่ะ หัดรับรู้สิ่งเหล่านั้น อย่างที่สิ่งเหล่านั้นเป็น
ถ้าเราฝึกหัดได้บ่อย ๆ ต่อไปเราก็จะรับรู้แบบลักษณะเดียวกัน ตัวจิต ตัวจิตจริง ๆ เป็นอันหนึ่ง แล้วตัวที่สิ่งที่มากระทบกับจิตก็เป็นอีกอันหนึ่ง ที่มันไม่ใช่ตัวจิต มันเหมือนกับตัวกายจริง ๆ คืออันนี้ และยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด เคลื่อนไหว เหลียวซ้าย แลขวา ก้ม เงย เย็น ร้อน อ่อน แข็ง อันนี้ไม่ใช่ตัวกาย แต่เป็นตัวอาศัยกายเกิด เหมือนอายตนะต่าง ๆ เหมือนกัน
เหมือนตัวหูกับตัวเสียง ที่มันไม่ใช่อันเดียวกัน แต่มันอาศัยกันเกิด
เหมือนตัวจมูกกับตัวกลิ่น ที่ไม่ใช่อันเดียวกัน แต่มันอาศัยกันเกิด
ตัวลิ้นกับตัวรส ที่ไม่ใช่อันเดียวกัน แต่มันอาศัยกันเกิด
ตัวใจที่ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์กับตัวอารมณ์ที่มากระทบกับตัว มันมันเป็นคนละอันกัน
ฉะนั้นเราต้องฝึกที่จะอยู่กับใจ คือทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ แต่อย่าไปทำอะไรกับอารมณ์
ขอให้เปลี่ยนการรับรู้ไปสู่การเรียนรู้ แล้วเราจะเห็นลักษณะของอารมณ์ อาการของอารมณ์ ปัจจัยประกอบของอารมณ์ เหมือนเราเห็นลักษณะของกาย อาการที่เกิดกับกาย ปัจจัยที่ปรุงแต่งให้เกิดอาการมากระทบกับกาย จะมีลักษณะแบบนี้นะ
ลักษณะของกายเป็นอย่างนี้ ลักษณะของสิ่ง ของอาการที่เกิดกับกายก็คือความเป็นทุกข์ ความเปลี่ยนแปลง และก็ความแตกสลาย นี่คือลักษณะของสิ่งที่มากระทบกับกาย ส่วนอาการที่มากระทบกับกายนั้น ก็แล้วแต่ปัจจัยประกอบมัน บางครั้งประกอบ ปัจจัยประกอบเป็นอาการร้อนมากระทบ อาการเย็นมากระทบ หรืออาการนิ่ม อาการแข็งอะไรต่าง ๆ ที่เขาสร้างเป็นลักษณะของอาการ แล้วมากระทบกับกาย
ปัจจัยประกอบที่ประกอบเกิดขึ้นเป็นอาการ 3 ลักษณะนี้ ใจเราเหมือนกัน ลักษณะของใจคือทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ ลักษณะของอารมณ์ก็คือเป็นทุกข์ทุกอารมณ์ เปลี่ยนแปลงทุกอารมณ์ แตกดับทุกอารมณ์ ปัจจัยประกอบของมันก็แล้วแต่ เขาเรียกว่าขันธ์ 5 ในภาษาที่เราว่า คือเอารูป เอาเวทนา เอาสัญญา เอาสังขารมาปรุงเป็นเรื่องราว แล้วก็ประกอบเป็นอาการ แล้วก็มากระทบกับใจ
ฉะนั้นถ้าเราทำหน้าที่ในการฝึกรับรู้ใจเราเข้มแข็งแล้วไซร้ เราแทบไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะทุกอย่างเขาจะสลาย เขาจะเป็นทุกข์ของเขาเอง เขาจะเปลี่ยนแปลงตัวเขาเอง แล้วเขาก็จะสลายของเขาเอง ทุกวันนี้ที่เราภาวนาแล้ว ใจเราไม่ค่อยสงบนิ่ง เพราะใจเราชอบที่จะไปทำอะไรกับสภาวะที่เขาทำมาสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นทำหน้าที่ของตนเองให้สมบูรณ์ คือทำหน้าที่ฝึกการรับรู้ ทุก ๆ ขณะ ในเวลาปัจจุบัน ให้ต่าง ๆ เขาเกิดขึ้นก่อน แล้วรับรู้เขาไป เรียนรู้เขาไป สังเกตเขาไป ส่งเสริมการรับรู้ให้เข้มแข็งขึ้น
ฉะนั้นในเช้านี้ ให้ข้อคิดในการฝึก ก็ขอให้พวกเราได้มีกำลังใจ ในการที่จะตั้งใจฝึกฝน เพื่อนำจิตวิญญาณของตน ให้ก้าวไปข้างหน้าขึ้น
ช่องทางอื่นๆในการรับสื่อธรรมะ
YouTube, FaceBook พระอาจารย์กระสินธุ์
Podcast : รู้ขณะเดียว
ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านที่ติดตามรับฟัง..สาธุ
Comments (0)
To leave or reply to comments, please download free Podbean or
No Comments
To leave or reply to comments,
please download free Podbean App.