Episodes
Monday Oct 12, 2020
กายต้องเคลื่อนไหว จิตต้องหยุดนิ่ง พจ.กระสินธุ์ 111063
Monday Oct 12, 2020
Monday Oct 12, 2020
โครงการรู้ขณิกะออนไลน์ คอร์สพัฒนาตัวรู้ ภาคฝืน3 (มินิกรุ๊ป)
นำปฏิบัติร่วมกันโดย พระอาจารย์กระสินธุ์ อนุภัทโท
วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม 2563 เวลา 05:00-05:30 น. ณ ห้องกลุ่มไลน์
ขอเจริญพร ญาติโยมทุกคนที่ตั้งใจลุกขึ้นมา บำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศลเพื่อรองรับวันใหม่ ทุก ๆ คน ก็เป็นโอกาสดี ที่ทุกเช้า เราได้ตื่นขึ้นมาทำกุศล ด้วยการฝึกภาวนา ก่อนที่จะไปทำงาน หรือก่อนที่จะไปเจอกับเรื่องราวต่าง ๆ ของชีวิต ในวันนี้
ฉะนั้นทุก ๆ วันที่เราตื่นขึ้นมา ลุกขึ้นมาปฏิบัติ เหมือนเราได้เตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมภาชนะที่จะรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในชีวิตในวันนี้ ด้วยการสร้างกุศลก่อน หลาย ๆ คนไม่มีโอกาสได้ตื่นขึ้นมาสร้างกุศลด้วยการตั้งใจภาวนา
ทีนี้ในเช้านี้อยากจะให้หลักภาวนา ที่เราจะเอาไปประพฤติปฏิบัติต่อ ๆ ไป เพราะในสภาพของ แวดล้อมและสังคมที่มันมีเรื่องราวเยอะ ถ้าเราไม่ฝึกหลักของการฝึกจิตฝึกใจเอาไว้ ก็จะพาให้จิตใจนี้สับสนวุ่นวาย อลหม่านไปกับสิ่งที่ธรรมชาติเขาปรุงแต่งรอบ ๆ ตัวเรา
เมื่อวานได้คุยกับศรัทธาญาติโยม และก็ได้อ่านข้อคิด ประสบการณ์จากพวกเราที่ได้ประพฤติปฏิบัติ ได้เขียนรายงานมา ได้คุยกับญาติโยมว่า เราต้องฝึกหลักว่า ร่างกายต้องเคลื่อนไหว จิตใจต้องหยุดนิ่ง จึงจะทำให้จิตใจมีกำลัง ร่างกายต้องเคลื่อนไหวจะได้กำลัง แต่จิตใจต้องหยุดนิ่งจึงจะมีกำลัง แต่ถ้ากายนิ่งใจไหว กายจะไม่มีกำลัง ใจก็จะไม่มีกำลัง
ฉะนั้นหลักการในการที่จะฝึกให้จิตมัน มันนิ่ง อยู่กับอารมณ์เดียวที่เป็นอารมณ์หลัก เป็นเรื่องสำคัญฉะนั้นเราต้องเข้าใจอารมณ์หลักให้ได้ก่อน เพราะถ้าเราไม่เข้าใจอารมณ์หลักเนี่ย อารมณ์ที่ปรุงแต่งที่มันมีมากมาย และก็หลากหลายอาการ หลากหลายรูปแบบ มันจะหลอกให้เราหลงไปเป็นกับมัน
อารมณ์หลักของเราก็คืออารมณ์ของการรับรู้อารมณ์ นี่คือตัวหลัก ตัวแกนหลักทั้งหมดนี้ ที่เราฝึก เราต้องการฝึกให้ตัวรับรู้อารมณ์ ที่เป็นการปรุงแต่งของร่างกาย แล้วก็เป็นการปรุงแต่งที่มากระทบกับจิตใจอยู่ตลอดเวลา
ในเบื้องต้นนี้ ต้องจำลักษณะของอารมณ์หลักตัวนี้ให้ได้ก่อน คือตัวรู้สึกตัวที่เป็นการรับรู้อารมณ์ ที่เขาจะรู้ตรง ๆ ตามที่อารมณ์นั้นเป็น ฉะนั้นในเบื้องต้นในวิถีชีวิตที่เราทำอยู่ เราควรฝึกหัดในการรับรู้อารมณ์ที่มันปรุงแต่งกันอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น พาจิตพาใจฝึกหัดในการรับรู้สิ่งที่ปรุงแต่งของกายให้เป็น ด้วยการ รับรู้ ศึกษาความเป็นไปของมัน จนกระทั่งเห็นได้ชัดว่า อันไหนคือตัวกาย อันไหนคือตัวปรุงแต่งกาย โดยอาศัยสิ่งที่ปรุงแต่งกายอยู่ตลอดเวลาที่เกิดกับร่างกายนี้เป็นตัวฝึกการรับรู้ให้เป็นก่อน ในเบื้องต้นเราลองศึกษาว่าตัวกายจริง ๆ คืออะไรและสิ่งที่มาปรุงแต่งกายคืออะไร มันจะได้เข้าใจได้ชัด
ฉะนั้นตัวกายจริง ๆ ก็คือร่างกายหัวจรดเท้า เท้าจรดหัวเนี่ย มีอาการ 32 มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มีแขน มีขา มีหู มีตา มีจมูก มีลิ้นที่อยู่บนร่างกายนี้ อันนี้เป็นกลุ่ม ๆ หนึ่งของกาย กับสิ่งที่อยู่บนร่างกาย ตา หู จมูก ลิ้น แล้วก็ร่างกาย สิ่งเหล่านี้เขาจะเป็นของเขาอย่างนี้ตลอด ทีนี้สิ่งที่ปรุงแต่งกับร่างกายก็จะมีอาการที่เราเห็นชัด หัดรู้ไปหัดรับรู้ไป ในขณะปัจจุบันนี้ทุกคนกำลังมีอยู่ เช่นอาการยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด เคลื่อนไหว เหลียวซ้าย แลขวา ก้ม เงย เย็น ร้อน อ่อน แข็งที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ที่กำลังเป็น กำลังมี กำลังปรากฏอยู่ ทุก ๆขณะของชีวิต
สิ่งเหล่านี้ ถ้าเราฝึกหัดให้เป็น โดยการรับรู้ตามอาการที่มันปรากฏ ตามอาการที่มันเป็น โดยไม่ได้ไปแทรกแซงอะไร อาการของร่างกายเกิด สิ่งที่มาปรุงแต่งกับร่างกายเกิดแบบไหนก็รับรู้ไป อย่างเช่น บางคนตอนนี้กำลังนั่งอยู่ ก็รับรู้อาการนั่งที่มันกำลังปรากฏกับร่างกาย ในเวลาเมื่อเราเห็นชัดปุ๊บ หรือบางคนกำลังเดินอยู่ ก็รับรู้อาการเดินที่มันปรากฏกับร่างกาย เพื่อฝึกซ้อมจิตให้หัดรับรู้กาย ให้สัมผัสกับกายได้บ่อย ๆ มันก็จะเห็นสิ่งที่มันมาปรุงแต่งกาย เหมือนสิ่งที่มาปรุงแต่งจิตไม่มีผิด เดี๋ยวเย็นมา ปรุงแต่ง ผ่านไป เดี๋ยวร้อนมา ปรุงแต่ง ผ่านไป เดี๋ยวปวดเดี๋ยวเมื่อยมาปรุงแต่ง ผ่านไปเดี๋ยวเป็นการยืนบ้าง การเดินบ้าง การนั่งบ้าง การนอนบ้าง มาปรุงแต่ง แล้วก็ผ่านไป หรือบางครั้งมันก็จะมีอาการกระพริบตาบ้าง หายใจบ้าง หรือบางครั้งก็มีอาการหนักบ้าง เบาบ้าง หรือบางครั้งก็มีอาการตึง อาการหย่อน หรือบางครั้งก็มีอาการเหนื่อย หรือบางครั้งก็มีอาการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
ถ้าเราฝึกจิตให้มารับรู้เท่าทันสิ่งที่มาปรุงแต่งกายได้บ่อย ๆ อันนี้จะเป็นอันหนึ่งในการที่จะฝึกตัวรับรู้หัดรู้ร่างกาย อย่างที่ร่างกายมันเป็น อย่างที่สิ่งที่มันมาปรุงแต่ง ที่มันเกิดตามเหตุตามปัจจัย ตามลักษณะของมัน เพื่อจะฝึกซ้อม ตัวรับรู้ให้เข้มแข็ง
ตัวรับรู้ที่เข้มแข็งเป็นอย่างไร ตัวรับรู้ที่ไม่เข้มแข็งเป็นอย่างไร ตัวรับรู้เรื่องราวของชีวิตที่มันเข้มแข็ง คือรับรู้ตามที่สิ่งนั้นเป็น จนกระทั่งมันเห็นว่า ตัวรับรู้ อาการของการรับรู้เป็นลักษณะหนึ่ง และอาการของสิ่งที่มาปรุงแต่งกายเป็นอีกลักษณะหนึ่ง ที่เป็นคนละลักษณะกัน ไม่ใช่อันเดียวกัน จนกระทั่งมันจำภาวะของการรับรู้ได้ชัด จนจิตมันคุ้นเคยกับการอยู่กับการรับรู้ ตามที่สิ่งนั้นเป็น เขาเรียกว่า เราจะเริ่มเห็นว่าการรับรู้เราเนี่ย เริ่มมีความรู้สึกเปิดกว้างขึ้น รับรู้อารมณ์ได้มากขึ้น แต่ไม่เป็นไปตามอารมณ์ แต่การรับรู้ที่อ่อนแอคือ รับรู้แล้ว มักเป็นไปตามอาการของอารมณ์นั้น ๆ พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง อยากจัดการบ้าง อยากรักษาบ้าง สิ่งเหล่านี้แหละมันจะแสดงผลถึงภาวะของการรับรู้เรา ว่าอ่อนแอหรือเข้มแข็ง ถ้าการรับรู้เรามีอุเบกขา มีการเรียนรู้ การศึกษา ตามที่สิ่งนั้นเป็น มันก็จะทำให้สภาพของการรับรู้นี้ เข้มแข็งตัวขึ้นมา มีกำลังขึ้นมา และเห็นการปรุงแต่งได้ตลอด ที่มันจะ ในด้านหนึ่งที่การฝึกรับรู้ทางร่างกาย สิ่งที่เกิดขึ้น มันจะทำให้เราได้เท่าทันการกระทบ เท่าทันอารมณ์ปัจจุบัน เท่าทันกับสิ่งที่เกิดขึ้นทีละขณะ ทีละขณะ มันจะทำให้การรับรู้เราเนี่ย เกิดได้ถี่ เกิดได้บ่อย แล้วก็ไม่ทันทำอะไร สิ่งนั้นก็จะหายไป และมันจะค่อย ๆ เพิ่มศักยภาพในการรับรู้ทางด้านร่างกายมากขึ้น เช่น
ตา เมื่อเกิดการกระทบกับรูป ก็สามารถฝึกการรับรู้ได้
หูกระทบกับเสียง ก็สามารถฝึกการรับรู้ได้
จมูกกระทบกับกลิ่น ก็ฝึกการรับรู้ได้
ลิ้นกระทบกับรส ก็ฝึกการรับรู้ได้
มันจะขยายการฝึกการรับรู้ในทางร่างกาย ในทางรูปนี้ มากขึ้น เพื่อเป็นตัวเป็นตัวฉุดรั้ง ไม่ให้จิตไปจมกับข้างใน ในเวลาเดียวกันปุ๊บ เมื่อเราฝึกชำนาญเข้า ๆ ในการรู้แล้วไม่ทำอะไร รับรู้อย่างที่มันเป็น รับรู้อย่างที่สิ่งนั้นเป็น สิ่งนั้นเกิด
เวลามันเกิดกับจิตใจเหมือนกัน เมื่อมีอะไรมากระทบ มันจะเห็นชัดว่า ตัวใจที่ทำหน้าที่รับรู้ กับตัวสิ่งที่มากระทบกับใจจะมีความแตกต่างกัน ตัวใจที่มันซื่อ ๆ ซื่อ ๆ ใส ๆ ที่มันมีภาวะของมันอยู่แล้ว ที่ทุกคนก็รู้จักอยู่ แต่ทุกคนไม่คุ้นชินกับการอยู่กับการรับรู้
ที่พูดตรงนี้หมายความว่าอย่างไร คือทุกคนสามารถรู้ได้ว่า กำลังพอใจอยู่ ก็สามารถรู้การพอใจนั้น หรือกำลังไม่พอใจอยู่ ก็รู้การไม่พอใจนั้น เหมือนที่พวกเราได้เขียนรายงาน ในเรื่องราวของการปฏิบัติในแต่ละวันที่ส่งมาให้อ่าน แต่ถ้าเราไม่ชัดเจนกับหลัก คือแค่รับรู้มันตามที่มันเป็น เราก็จะหลงประเด็น ไปเป็นกับสิ่งที่เรารู้ เวลามันเกิดขึ้นมาปั๊บ แทนที่เราจะรับรู้ตามที่มันเป็น เราก็เลยไปเป็นกับสิ่งที่เรารู้ มันเลยเสมือนสิ่งที่มาให้เรารู้นั้น เป็นเสมือนของจริง
เราจะเห็นได้ว่า สักพักหนึ่งสิ่งที่เรารู้มันก็จะเปลี่ยนไป อารมณ์ที่เกิดขึ้นกับจิตมันจะเปลี่ยนตัวของมันไปเรื่อย ๆ เปลี่ยนเรื่องเปลี่ยนราวไปเรื่อย ๆ แต่ตัวรับรู้เรื่องราวเหล่านั้นก็ยังคงเดิม ยังเหมือนเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์เหล่านั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามอาการของสิ่งเหล่านั้น
ฉะนั้นแกนหลักของมันคือรู้สึกตัวที่รับรู้อารมณ์ตามที่อารมณ์มันเป็น มันเป็นเรื่องสำคัญ
ฉะนั้นในชีวิตที่เราเป็นอยู่ในแต่ละวันเนี่ย บางครั้งเราไม่ได้มีเวลาในการภาวนาในรูปแบบเท่าที่ควร เราก็ควรหัดใช้ชีวิตในการฝึกภาวนาที่นอกรูปแบบ
โดยการปล่อยให้ทุกอย่างมากระทบก่อน เกิดก่อนแล้วคอยรับรู้ลักษณะของมัน
มีการฝึกหัดให้มันเท่าทันการกระทบ กับสิ่งที่มันมากระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กายที่คอยดักปรุงแต่งทางด้านร่างกายบ้าง ปรุงแต่งทางด้านจิตใจบ้าง
เราก็หัดภาวะของตัวรู้สึกตัวที่เป็นแบบธรรมชาติ อาศัยการกระทบเกิดขึ้นมาก่อนจึงจะเกิดการรู้สึกตัวที่เกิดภาวะของการตื่นขึ้นมารับรู้อารมณ์นั้น ๆ ตามที่มันเป็น
เราต้องทำความเข้าใจการรู้สึกตัวตรงนี้ให้ดี ๆ ว่า รับรู้ตามที่สิ่งนั้นเป็น โดยที่เราไม่ได้เป็นไปด้วย เราเพียงแต่ทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ คือการรับรู้เรื่องราวเหล่านั้น
ฉะนั้นต้องอาศัยอารมณ์ปัจจุบัน ที่ทำอย่างไรให้จิตเราจะเกิดความคุ้นชินกับการรับรู้อารมณ์ให้ได้บ่อยมากที่สุด จนจำลักษณะของใจมันได้ว่า นี่คือใจจริง ๆ คือทำหน้าที่รู้สึก กลับรู้เรื่องที่มากระทบกับตัวมันอยู่ตลอดเวลา และมันก็จะเห็นสิ่งที่มากระทบตัวมัน เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ไหลผ่านไปเรื่อย ๆ ไม่เคยหยุดยั้ง ไม่เคยหยุดนิ่ง แต่ถ้าจิตใจเราไม่ตั้งมั่นและวิ่งไปตามสิ่งที่ไหลผ่านอยู่เรื่อย ๆ มันก็ทำให้จิตใจเรานี้ไม่มีกำลัง เมื่อวิ่งไปแล้ว ก็จะเกิดภาวะของความชอบใจกับสิ่งที่ตัวเองรู้ หรือไม่ชอบใจกับสิ่งที่ตัวเองต้องรู้
สิ่งเหล่านั้นเขาจะไม่สนในความรู้สึกของคุณ ว่าคุณชอบหรือไม่ชอบ เขาก็จะมาตามเหตุตามปัจจัย ไปตามเหตุตามปัจจัย เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ทุกข์ไปทุก ๆ เรื่อง แค่เรารับรู้ตามที่มันเป็นให้ชัด ๆ โดยการฝึก ทำอย่างไรให้จิตเขาได้อุปนิสัยในการรับรู้ หรือระลึกถึงการรับรู้ของตัวเองได้บ่อย ๆ จนจำอารมณ์นี้ได้ขึ้นใจ และ (ฟังไม่ชัด) อยู่กับอารมณ์นี้ได้เป็น อาศัยอารมณ์นี้ในการดำเนินชีวิตอาศัยอารมณ์นี้ เป็นที่อยู่ของจิตใจ เราจะได้ไม่วิ่งไปเที่ยวอาศัยความคิด อาศัยอารมณ์ที่มันจรมาจรไปเป็นหลัก อุปนิสัยเดิมของเรา มันจะชอบไปอาศัยอารมณ์ที่มากระทบตัวมันเป็นหลัก เพราะมันยังไม่รู้จักว่า ภาวะของการรับรู้นี่แหละ คือตัวจิตเดิมแท้ ใจเดิมแท้ ที่ไม่ได้ไปเป็นอะไรกับอะไรเลยสักอย่าง แต่มันกลับรู้เรื่องการเป็นของทุกอย่าง โดยที่ตัวมันไม่ได้เป็นกับทุกเรื่อง แต่มันกลับรับรู้ได้ทุกเรื่อง
มันเป็นความมหัศจรรย์อยู่ในตัวมัน แต่ด้วยใจที่หลง ใจที่ไม่ได้ฝึกภาวะของรู้สึกตัวที่รับรู้อารมณ์อย่างเข้มแข็ง จึงไม่ค่อยได้พบภาวะพวกนี้
ฉะนั้นจะเป็นกระบวนการในการฝึกทั้งหมด จะเป็นการฝึกรู้ ฝึกฝืน ฝึกออก หรือฝึกวางก็ตาม เป้าหมายของมันคือ จะพัฒนาตัวรู้สึกตัว ที่ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ อย่างที่อารมณ์เป็น ให้เข้มแข็ง โดยเราต้องอาศัยจังหวะ อาศัยโอกาสของสิ่งที่มากระทบกับชีวิตเรานั่นแหละ เป็นเครื่องมือ เป็นอุปกรณ์ในการฝึกฝน ที่จะคอยสังเกตดูว่า ภาวะที่ของการรับรู้เราเนี่ย เข้มแข็งหรืออ่อนแอ
เราจะสังเกตได้ ถ้ารับรู้ครั้งใดแล้ว เราไปปรุงแต่งกับสิ่งที่เรารู้ พอใจกับมันบ้าง ไม่พอใจกับมันบ้าง หรืออึดอัดกับมันบ้าง หรือไปพยายามที่จะทำอะไรกับมันบ้าง นั่นแสดงถึงการรับรู้ที่ไม่เข้มแข็ง ถ้าตัวรู้สึกตัวที่เป็นการรับรู้เข้มแข็ง เขาจะรับรู้อย่างที่สิ่งนั้นเป็น จนกระทั่งเขาเห็นว่าสิ่งนั้น เป็นแค่อุปกรณ์ เป็นแค่เครื่องมือ เป็นแค่ละคร เป็นแค่เรื่องราว เป็นแค่บทบาท มาแสดงให้เราได้เรียนรู้ ให้เราได้เข้าใจมันมากขึ้น เยอะขึ้น
ฉะนั้นในวิถีชีวิตจะมีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม ให้เราหัดที่จะรับรู้เรื่องเฉพาะหน้าเอาไว้เป็นหลัก ไม่ว่าเรื่องเฉพาะหน้าจะเป็นเรื่องที่ถูกใจเรา หรือไม่ถูกใจเรา แต่ทุก ๆ เรื่องคือเรื่องที่กำลังถูกใจ(โดนใจ) เราอยู่ ใจเราถึงรู้ภาวะเหล่านั้น
ที่เราอาศัยการใช้ตัวกดบ้าง การใช้ 3 กาลบ้าง การใช้ตัวสร้างจังหวะ เดินจงกรมบ้าง นี่ก็คืออุปกรณ์ในการฝึก ให้ภาวะของการรับรู้เรา ได้เสริมให้เข้มแข็งขึ้น แต่มันจะไม่เข้มแข็ง มันจะเข้มแข็งไม่ได้ ถ้าใจยังไม่สนใจอารมณ์ แค่รับรู้สิ่งที่ปรุงแต่งก็มีความสุขแล้ว รับรู้สิ่งที่ปรุงแต่งก็สบายใจแล้ว ไม่ได้ใส่ใจว่าสิ่งที่มันมาปรุงแต่งจะดีหรือไม่ดีอะไรทั้งสิ้น แต่มีความรู้สึกว่าฉันได้เห็นสิ่งเหล่านี้ ฉันมีความสุขแล้ว สิ่งเหล่านี้จะเป็นอะไร สิ่งที่มาปรุงแต่งจะเป็นอย่างไร ก็ให้มันเป็นไปตามวิถีทางของมัน เราจะไม่ได้ไปขัดขวาง เราจะไม่ไปจัดการ เราจะปล่อยให้ธรรมชาติทั้งหมด เขาจัดการภาวะเหล่านี้ได้ด้วยตัวของเขาเอง
ฉะนั้นตัวแกนหลัก อารมณ์หลัก พยายามฝึกให้จิตได้สัมผัสบ่อย ๆ จะเป็นการรับรู้แบบนอกรูปแบบ แบบธรรมชาติ ที่ปล่อยให้สิ่งต่าง ๆ มากระทบ เราก็แค่รู้ไป ความโกรธแต่ละวัน มันไม่ใช่ปัญหา ปัญหามันอยู่ที่ว่า เมื่อรู้ความโกรธเหล่านั้นแล้ว เรารู้มันในรูปแบบไหน รู้สึกมันอย่างไร รู้สึกมันแบบเรียนรู้และศึกษา หรือรู้สึกมันแบบที่เราอึดอัดขัดข้อง อยากระบาย อยากทำตาม ฉะนั้นทั้งหมดอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงที่มันมาปรุงแต่งในชีวิตเราน่ะ ไม่ใช่ตัวปัญหา ตัวปัญหามันอยู่(ที่ว่า) เมื่อมันมาปรุงแต่งแล้ว เรารับรู้มันอย่างไร เรารู้แบบหลง หรือเรารับรู้แบบเรียนรู้ตามที่มันเป็น
ฉะนั้นไปหัดให้เกิดภาวะของการสัมผัสของการรับรู้ตามที่สิ่งนั้นมาปรุงแต่ง ตามที่สิ่งนั้นมันเป็น ให้ได้บ่อย ๆ มันจะเป็นแบบไหนก็รู้แบบนั้นไป แต่ให้รู้แบบศึกษา ให้รู้แบบเรียนรู้ ให้รู้แบบเป็นอิสระจากมัน ถ้ามันเข้าไปข้างในมาก ก็หัดรับรู้การปรุงแต่งของร่างกาย ฝึกซ้อมไปบ่อย ๆ เพราะร่างกายนี้ มันจะมีสิ่งที่ปรุงแต่งที่ไม่ต้องใช้การคิด ไม่ต้องใช้การกระทำ เพียงแต่ใส่เจตนาเล็ก ๆ เข้าไปในการรับรู้ อย่างที่สิ่งนั้นเป็น ก็จะทำให้เราปฏิบัติธรรมได้ดีขึ้น
ฉะนั้นเช้านี้อยากฝากหลักเอาไว้ให้พวกเรา ไปลองพัฒนาหลักของการรับรู้อย่างที่มันเป็นแบบสั้น ๆ แต่ให้เกิดได้บ่อย ๆ จนใจเราน่ะ จำจิตเดิมแท้ของเราได้ ว่าสิ่งนี้แหละคือจิตเดิมแท้เรา คือภาวะของการรู้สึกตัวขึ้นมารับรู้การปรุงแต่งของร่างกาย รับรู้การปรุงแต่งของจิตใจอย่างที่ร่างกายเป็น อย่างที่จิตใจเป็น และเราไม่ได้ไปเป็นตามนั้น เราเป็นแต่เพียงผู้รู้ ผู้ดู ผู้ศึกษาดูลักษณะของมัน ดูอาการของมัน ดูความเปลี่ยนแปลงของมัน ดูความแตกสลายของมมัน ขอให้เรามีความมุ่งมั่น ที่จะฝึกฝนกับวิถีชีวิตที่อยู่บนโลกที่มันวุ่นวายไปด้วยกับดักและสิ่งที่หลอกล่ออารมณ์ ด้วยกันทุกคน เจริญพร
ช่องทางอื่นๆในการรับสื่อธรรมะ
YouTube, FaceBook พระอาจารย์กระสินธุ์
Podcast : รู้ขณะเดียว
ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านที่ติดตามรับฟัง..สาธุ
Comments (0)
To leave or reply to comments, please download free Podbean or
No Comments
To leave or reply to comments,
please download free Podbean App.