Episodes
Thursday Aug 19, 2021
นิสัยของอารมณ์ 100864
Thursday Aug 19, 2021
Thursday Aug 19, 2021
ธรรมเทศนาออนไลน์
โดย พอจ.กระสินธุ์ อนุภัทโท
10 สิงหาคม 2564 เช้า ห้องพาจิตกลับบ้าน
" เป็นอาทิตย์ที่๒ ของการที่จะมาตั้งใจภาวนาในหัวข้อเดิมคือหัวข้อฝึกรู้สั้น ๆ เพื่อจะทำให้เรามีความคุ้นชินและชำนาญมากขึ้นในการที่จะฝึกอยู่กับตัวรู้
บางครั้งอาตมาใช้คำพูดกับสภาวะนี้ในหลายรูปแบบ พวกเราอาจจะสับสนกับการใช้คำพูดของภาวะรู้นี่
บางทีก็..รู้สึกตัวบ้าง บางทีก็..ตัวรู้บ้าง บางทีก็..รู้ขณะเดียวบ้าง บางครั้งก็ใช้ว่า... วิญญาณธาตุบ้าง... วิญญาณขันธ์บ้าง
แต่ให้เข้าใจเถิดว่า จะเรียกชื่ออะไรก็ตาม แต่มันก็สื่อถึงอาการเดียวกันนี่แหละ
บางครั้งบางคนก็จะสับสน อ้าวเดี๋ยวก็...รู้สึกตัว เดี๋ยวก็...ตัวรู้ เดี๋ยวก็...รู้ เดี๋ยวก็...รู้สั้น ๆ เดี๋ยวก็...รู้ขณะเดียว เดี๋ยวก็...รับรู้สังเกตเห็น
สิ่งเหล่านี้เป็นภาษาเฉย ๆ และเพื่อสื่อถึงอาการของคน ๆ หนึ่ง คน ๆ เดียวกัน แต่อาตมาจะเรียกหลายชื่อ หลายมุม แล้วแต่ความเหมาะสมของมัน
บางคนก็เลยบางครั้งยังสับสนอยู่ว่าภาวะนี้คืออะไร ก็เลยอยากจะทำความเข้าใจให้มัน
การเข้าใจด้วยภาษา มันยังไม่ถึงการเข้าถึงหรอก แต่การไปสัมผัสตัวตนของมันจริง ๆ แล้ว เราจะไม่สับสน
ในการฝึก...ตัวรู้อันนี้ บางครั้งครูบาอาจารย์เก่า ๆ ท่านก็จะใช้...รู้สึกตัว แต่อาตมาไม่ค่อยชอบใช้ภาวะนั้น เพราะอาตมาเคยใช้แล้ว มันเป็นภาวะที่ แทนที่ติดกับตัวรู้ แต่ไปติดตัวของร่างกายซะ เพราะ..รู้สึกตัว นี่มัน...รู้สึกลงไปที่ร่างกาย...ลงไปอยู่กับร่างกาย เหมือนลงไปอยู่กับทะเล ไม่ได้อยู่กับตัวคนที่ยืนดูทั้งทะเลและยืนดูฝั่ง มันจะลืม ก็เลยใช้ว่า...ตัวรู้เป็นหลัก
ถ้าเราฝึก...ตัวรู้กันแล้ว จิตเราไม่กว้าง มันอันหนึ่ง
อุปสรรคอีกอันหนึ่งของการฝึก...ตัวรู้ อยากจะให้รู้จักอันหนึ่งว่า
ตัวรู้ที่เรามีอยู่..จึงไม่ค่อยจะลึกซึ้ง หรือ เข้าถึงอะไรบ้าง
เพราะโดยปกติ อุปนิสัยของจิตที่มันฝึกแล้ว มันเปิดกว้าง เหมือนกุศลที่มันเปิดออก เปิดกว้าง
แต่หลายคนภาวนาไป จิตจะไม่ค่อยเปิดกว้าง ไม่ค่อยเปิดรับอารมณ์ เพียงแต่จะจำกัดตัวเองอยู่เฉพาะอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง แต่ไม่ได้เปิดรับอารมณ์
แต่... ตัวรู้ เขาไม่ได้เป็นอย่างนั้น เขามีอุปนิสัยการเปิดรับอารมณ์ทั้งหมด ไม่ได้เจาะจงอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง
เวลาปฏิบัติ พอเราเปิดรับอารมณ์มาก ๆ เราก็จะรู้สึกฟุ้งซ่านแล้วก็จะไม่ชอบ ก็จะพยายามหดตัวเองเข้ามา
การหดตัวเองเข้ามา มันเหมือนการพยายามที่จะปิดกั้นสภาวะต่าง ๆ ที่เขาจะเกิดขึ้นมาให้เราได้ศึกษาและเรียนรู้
ฉะนั้นเราต้องทำใจให้ดี ๆ ว่า เราปฏิบัติธรรมเพื่อการเปิดกว้าง เปิดจิตออก เปิดจิตรับทุกสภาพ รับทุกอารมณ์ รับทุกสภาวะที่จะเกิดขึ้นมาพบปะกับเรา หรือเราจะไปพบปะกับเขา
ถ้าเรายังปฏิบัติธรรมแล้ว เพื่อต้องการภาวะสงบ ๆ ต้องการภาวะดี ๆ ต้องการภาวะที่มีความสุขเพลิดเพลินอยู่ มันเป็นจิต...ที่ไม่เปิดออก
หรือบางครั้งจะเอาแต่อยู่กับสภาวะของตัวรู้อย่างเดียว โดยไม่ให้มีอย่างอื่นเกิดขึ้นด้วย อันนี้ก็เป็นภาวะของจิตที่ฝึกตัวรู้...ที่ไม่เปิดออก
กลัวการปะทะอารมณ์ กลัวการเผชิญอารมณ์ กลัวการพบปะ เหมือนกับบุคคลที่ว่า กลัวการพบปะกับผู้คน เพราะว่าเมื่อพบปะกับผู้คนมากมายแล้วเรื่องจะเกิดขึ้นเยอะ
แต่ในชีวิตเรา มันก็ต้องไปพบปะกับสิ่งเหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะชีวิตภายในเราเอง เราก็ต้องมีการพบปะกับเรื่องราวของชีวิตอยู่สม่ำเสมอ
ฉะนั้นบางคนเวลาฝึกไปแล้ว ชอบไปปิดกั้น เวลามันเกิดอารมณ์มา อารมณ์ที่ตัวเองไม่ชอบ ก็มักจะปิดกั้นมัน แต่อารมณ์ไหนที่ตัวเองชอบก็มักเปิด เตลิดเปิดเปิงไปกับมัน ไม่รู้จักบันยะบันยัง ไม่รู้จักสันโดษ ไม่รู้จักความพอดี มีแต่อยากให้มีอีก อยากให้เป็นอีก อยากให้เกิดอีก เลยสร้างเป็นอุปนิสัยอะไรขึ้นมาให้เราเพลิดเพลินไปกับมัน
ส่วนใหญ่ เวลาสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมา เราจะ "สูญเสียความเป็นปกติ" มักต้านและมักตาม นี่คือจิต...ที่ไม่เปิดออก จิต....ที่ไม่เปิดกว้าง จิต...ที่
ไม่เป็นใหญ่ เพราะบางครั้ง อะไรที่เราชอบเราก็มักตาม อะไรที่เราไม่ชอบก็มักต้าน ถ้าจิตยังมีอาการเหล่านี้อยู่ด้วย ความเป็นปกติของมันก็จะไม่ค่อยเกิด
แต่ถ้า"จิตเป็นปกติ" เค้าจะไม่มีอาการนี้ อะไรก็ได้ แบบไหนก็ได้ ยังไงก็ได้ แต่ฉันไม่ได้เข้าไปร่วมด้วย ฉัน "แค่รู้" พฤติกรรมของสภาวะเหล่านั้น "ตามที่มันเป็น"
ฉะนั้นการฝึกปฏิบัติที่จะต้องสัมผัส...ตัวรู้สึกตัว ...ตัวรู้จริง ๆ มันมีอยู่แล้วทุก ๆ เรื่อง ทุก ๆ เวลา โดยเงื่อนไขที่เราใช้...อยู่กับตัวรู้
เราใช้ ๒ เงื่อนไขคือ "รู้ก่อนสิ่งนั้นเกิด" เป็นเงื่อนไขฝึกฝน
รู้ก่อนสิ่งนั้นเกิด... แต่ไม่จำกัดว่า สิ่งที่เกิดนั้นเป็นยังไง เป็นแบบไหน
รู้ก่อนสิ่งนั้นเกิด... แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นมา จะเป็นอย่างใดก็ได้ จะเป็นแบบไหนก็ได้ ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นแบบนี้ อย่างเช่น :
รู้ก่อนสิ่งนั้นเกิด
- อาจเป็นความง่วงก็ได้ ที่เรากำลังรู้อยู่ หรือ
- จะเป็นความฟุ้งซ่านก็ได้ที่เรากำลังรู้อยู่
- หรือจะเป็นความสงบก็ได้ที่เรากำลังรู้อยู่
แต่รู้ก่อนสิ่งนั้นเกิด เป็นเงื่อนไขอันหนึ่งที่เรานำมาฝึกฝน เพื่อกันความเผลอ ความเพลิน ความเหม่อ ความลอย ความหลงไปกับอารมณ์
เพื่อฝึกฝน :
- ให้จิตเขาทำหน้าที่อยู่กับตัวเขาเอง
- อยู่กับอุปนิสัยของเขาเอง เพื่อทำหน้าที่รู้อารมณ์ ไม่ใช่ทำหน้าที่
จัดการอารมณ์
เลยต้องหัดว่า ในเบื้องต้นที่ "มีเจตนาในการที่จะรู้ก่อนสิ่งนั้นเกิด" ผ่านกระบวนการในการใช้รูปแบบบ้าง ที่เป็นรูปแบบภายนอก ๑๔ จังหวะบ้าง เดินจงกรมบ้าง นั่งดูลมหายใจบ้าง แล้วแต่ ทื่จะเป็นอะไรก็ตาม
หรือแม้แต่คอร์สที่เรากำลังฝึกอยู่ในขณะนี้ เราก็หัดที่จะ..รู้ก่อนสิ่งนั้นเกิด ตามแบบฉบับของสัมผัสโลกใบนี้ ทีละขณะ อย่างที่มันเป็น ไม่ได้สนใจว่ามันจะเป็นแบบไหน
ฉะนั้นให้หัดรู้มันไปชัด ๆ
เวลาเราจะรู้สิ่งเหล่านั้น เราลองปล่อย เราลองตั้งใจแบบนี้ว่า เราจะตั้งใจ 'รู้ก่อนสิ่งนั้นเกิด' แบบสั้น ๆ ขณะเดียว แล้วไม่จำกัด เพื่อทำให้จิตมันเปิดกว้าง ไม่จำกัดว่าจะเป็น จะมาในรูปลักษณะอย่างไรก็ตาม เช่น :
ตาจะมีรูปเกิดแบบไหนก็ได้ แต่ฉันขอรู้ รู้มันเป็นขณะหนึ่ง ๆ
หูจะเป็นเสียงเกิดแบบไหนก็ได้ แต่ต้องการรู้ความเป็นขณะหนึ่ง ๆ ของสิ่งนั้น
จมูกเหมือนกัน กลิ่นที่จะโชยมาถูกเรา จะเป็นแบบไหนก็ได้ ในขณะหนึ่ง แต่ว่าจะรู้สึก
ร่างกายเราเองจะมีความเย็น ความร้อน การเคลื่อนไหวนานาชนิดที่จะเกิดขึ้นบนร่างกายนี้ในรูปแบบขณะหนึ่ง
หรือแม้แต่จิตใจเราที่จะมีอารมณ์มากระทบ มีความคิดมากระทบ เราก็ต้องการแค่ฝึกความรู้สึกในขณะหนึ่งของสิ่งเหล่านั้น
ในมุมมองอันนี้ ตีไปสู่มุมมองทุก ๆ อัน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และอารมณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ฉันขอสัมผัสกับมันเพียงแค่ขณะเดียว แม้เรื่องนั้นมันจะเกิดซ้ำ ๆ แต่ขอในการเกิดซ้ำ ๆ ของมันมีความเป็นขณะเดียว ๆ อยู่ในนั้นทั้งหมดเลย เพื่อจะสัมผัส ให้จิตสัมผัสของสด ๆ ใหม่ ๆ เสมอ ๆ ไม่หมกจมไปอยู่กับอดีตอนาคต ให้มันเป็นการสัมผัสที่ใหม่สดเสมอ เหมือนเราเพิ่งตื่นขึ้นมา เหมือนเราเพิ่งลุกขึ้นมาอยู่กับโลกใบนี้ ในวันนี้ที่สดใสในรูปแบบของมัน อันนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่เราจะต้องฝึกฝนให้มันชัดเจนขึ้น ให้จิตมันชำนาญ
ในการตั้งใจก่อนที่ฉันจะรู้โลกใบนี้ การปรุงแต่งของโลกใบนี้ทั้งหมด ในรูปแบบความเป็นขณะเดียวของทุกสรรพสิ่งให้ได้มากที่สุด เพื่อจะตอกย้ำให้จิตสำนึกของเราเอง ได้รู้สึกถึงหน้าที่ว่า คุณต้องทำหน้าที่นี้นะ
หน้าที่ของคุณคือเป็นตัวรู้ ที่คอยดักรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ในมุมมองของมันเองด้วยจิตที่เปิดกว้าง ไม่ได้เลือกปฏิบัติ ไม่ได้เลือกกระทำอะไรทั้งสิ้น แต่ศึกษามันทั้งหมดด้วยจิตที่เปิดกว้างเสมอ ๆ
อีกรูปแบบหนึ่งคือรูปแบบของการฝึก การรู้ขณะเดียว ให้เขาเกิดก่อนแล้วค่อยรู้ตามกับทุกเรื่องราว
แต่ถ้าเราปล่อยไป โดยไม่มีการตั้งใจไว้บ้างเขาจะมักไหลตาม ถ้าเราทำเรื่องแรกบ่อย ๆ เข้า เราก็จะเข้าใจเรื่องที่ ๒ เอง รู้ก่อนเกิด กับ เกิดก่อนรู้
ปล่อยให้ทุกอย่างเขาเกิดมาก่อนแล้วก็รู้ความเป็นขณะเดียว ๆ ของมันอยู่เสมอ ๆ ไม่ว่าจะมาในรูปแบบใดก็ตาม ยังไงก็ตาม เพื่อทำให้จิตมันยอมรับทุกสรรพสิ่งให้ได้
จะอุปมาให้ฟังเรื่องหนึ่ง มันเป็นเรื่องของการฝึก ที่เราต้องหัด
ถ้าเราคิดว่าเรากำลังอยู่ในชุมชน ชุมชนหนึ่งซึ่งเป็นชุมชนของอารมณ์ก็ได้ ในชุมชนของอารมณ์นี้มันจะมีผู้คนอยู่มากมาย แล้วก็หลากหลาย และในชุมชนนี้แต่ละคนก็จะมีอุปนิสัยที่ไม่เหมือนกัน ที่ต่างกัน เขาจะมีอุปนิสัยที่เป็นเฉพาะตัวของเขาในชุมชนนี้ อย่างเช่นบางคน :
มีอุปนิสัยขี้โกรธ ยังไง ยังไง มันก็โกรธของมันอยู่อย่างนั้นแหละ เพราะอุปนิสัยของมันคือขี้โกรธ หรือ
บางคนมีอุปนิสัยโลภมันก็โลภอยู่อย่างนั้นแหละ
หรือมีอุปนิสัยหลงก็หลง
ฟุ้งซ่านก็ฟุ้งซ่าน หรือ
บางคนมีอุปนิสัยในการเมตตาก็เมตตา หรือ
มีอุปนิสัยในการที่ว่าสงบนิ่งก็สงบนิ่ง หรือ
มีอุปนิสัยในการที่จะกรุณาช่วยเหลือคนอื่น ก็พยายามจะช่วยเหลือคนอื่นอยู่
อันนี้ฉันใดก็ตาม เรากำลังอยู่ในชุมชนหนึ่ง ที่มีทั้งฝ่ายกุศลและฝ่าย
อกุศล ที่เขาจะแสดงอุปนิสัยของเขามาให้เราได้ศึกษาและเรียนรู้อยู่บ่อยๆ ตัวเราเองเหมือนตัวรู้ที่อยู่ในชุมชนนี้ เรียนรู้เรื่องราวของคนในชุมชนนี้ทั้งหมดเลย
ถ้าเราเสียศูนย์เมื่อไหร่ ไปลำเอียงเมื่อไหร่ ไปเข้าข้างใดข้างหนึ่ง เกลียดชังข้างหนึ่ง ความเป็นส่วนตัวของเราก็จะหายไป เหมือนเราเริ่มเข้าไปยุุ่งในอุปนิสัยของเขา เข้าไปยินดี เข้าไปสมาทาน เข้าไปร่วมเสวนาด้วยเราก็จะซึมซับอุปนิสัยอันนั้นเข้ามา แล้วก็ใช้อุปนิสัยอันนี้ในการดำเนินชีวิตอยู่
เหมือนบางคนอุปนิสัยในการโกรธทั้งที่ความโกรธเขาคือคน ๆ หนึ่ง แต่พอเราไปสัมผัสด้วย ไปอยู่ด้วย แล้วความเป็นตัวของตัวเองไม่มี ไม่รู้จักตัวเองก็เลยซึมซับเอาความโกรธนั้นมาเป็นอุปนิสัยของตนเอง แต่สักพักหนึ่งมันก็จะหายไป
ดังนั้นเวลาเราอยู่ในชุมชนนี้ เราจะเห็นว่า เวลาเราไปปฏิบัติแต่ละวัน มันจึงมีอารมณ์พวกนี้มาเรื่อย ๆ เสมอ ๆ
ง่วงก็คือแค่ง่วง แล้วทำไมเราจะต้องไปโวยวายกับมันด้วย ทำไมเราจะต้องวุ่นวายกับมันด้วย ทำไมเราต้องไปยินดียินร้ายกับมันด้วย มันก็คือแค่ง่วง
คิดก็คือแค่คิด คือนิสัยหนึ่งของธรรมชาติเดิมแท้ของจิต ธรรมชาติเดิมแท้ของธรรมชาติที่การปรุงแต่งของธรรมชาติ คิดคือแค่คิดแต่ทำไมเราชอบไปวุ่นวาย ชอบไปศรัทธา ชอบไปเชื่อ ชอบไปหลงงมงายกับความคิดเหล่านี้ด้วย ทั้งที่อุปนิสัยของมันก็คือการคิด
คน ๆ นี้มีอุปนิสัยแบบนี้ เขามักคิด แต่เขานะ ไม่ใช่เรา เขามักโกรธ
เขามักเกลียด เขามักรัก เขามักชัง เขามักหลง เขามักเผลอ ให้รู้จักว่า อารมณ์ภายในของเราทั้งหมดนั่นคืออุปนิสัยของมันหละ มันจะแสดงอุปนิสัยของมันทั้งหมดเลย ลักษณะและอาการ เขาจะแสดงอุปนิสัยของเขาออกมาแบบนั้นทั้งหมด
มันเหมือนเราอยู่ในชุมชน ๆ หนึ่ง ที่ต้องมีพื้นที่ส่วนกลาง ที่ต้องอยู่ทั้งฝ่ายอุปนิสัยที่เป็นฝักฝ่ายที่ดีที่เป็นบุญเป็นกุศลต่าง ๆ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา สติ สมาธิ ปัญญา อินทรีย์๕ อะไรพวกนี้
อินทรีย์๕ คือศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา นี่ก็เป็นอุปนิสัยของกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในชุมชนนี้ด้วยกัน อุปนิสัยในฝ่ายกุศลที่เขามีกลุ่มก้อน มีกลุ่มคนอยู่ด้วย เหมือนชุมชนหนึ่งเขาก็แสดงอุปนิสัยของเขามาให้เราเห็น
หรืออุปนิสัยของการอกุศล นิวรณ์๕ เช่น กามฉันทะ พยาปาทะ ถีนมิธทะ อุธธัจจะ วิจิกิจฉา นี่ก็เป็นอุปนิสัยของอารมณ์มัน เราสังเกตเห็นมั้ยว่า ทุกครั้งที่มันเกิด มันก็แสดงแบบเดิม เหมือนเดิม แบบเดิมทุกครั้ง เหมือนเดิมทุกครั้ง ไม่เคยเปลี่ยนแปลงอะไรเลย
แต่เรา ทำไมไม่มีจิตที่เปิดกว้าง ยอมรับว่า นี่เราต้องอยู่ท่ามกลางสิ่งเหล่านี้ด้วย ท่ามกลางเรื่องราวเหล่านี้ด้วย ท่ามกลางเหตุการณ์เหล่านี้ด้วย แล้วเราจะต้องอยู่ท่ามกลางอะไรด้วย เช่น การปรุงแต่งของรูปทั้งหลาย ท่ามกลางของตาที่เห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรู้รส กายสัมผัสที่เป็นภายนอก ที่มีการปรุงแต่งกันอยู่เสมอๆ
ที่เป็นภายในเรานึกถึงสภาพที่ว่าเราต้องอยู่ในชุมขนที่เป็นหมู่บ้านด้วย และก็นอกหมู่บ้านด้วย เราจะอยู่อย่างไร ถ้าเราไม่มีจิตเปิด
กว้าง มีจิตคับแคบเมื่อไหร่ หรือมีจิตลำเอียงเมื่อไหร่ ลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะชัง ลำเอียงเพราะกลัว ลำเอียงเพราะไม่รู้ เมื่อนั้นเราจะสูญเสียความเป็นปกติ ที่ผลักดันไปสู่การได้อุปนิสัยในการผลักไสแล้วก็ไหลตาม ทั้งที่นิสัยของความเป็นปกติเขาไม่ใช่มีอาการอย่างนี้
ถ้าเราฝึกปฏิบัติแล้ว ยังเกิดอาการผลักไสและไหลตามอารมณ์อยู่เสมอ ๆ นั่นแหละ มันจึงไม่พบว่า ตัวฉันเป็นยังไง ตัวฉันคืออะไร ตัวฉันอยู่ที่ไหน หรือ มีแต่ตัวฉันที่เลียนแบบนิสัยคนอื่นอยู่เรื่อย ๆ สม่ำเสมอ
เลยไม่รู้จักนิสัยของตัวรู้ว่า นิสัยของตัวรู้เป็นอย่างไร มีแต่นิสัยเลียนแบบตัวหลงเพลิดเพลิน หลงผลักไสบางเรื่องที่ตัวเองไม่ชอบ หลงใหลตามบางเรื่องที่ตัวเองชอบอยู่อย่างนั้น เลยไม่รู้จักนิสัยเดิมแท้ของเราคืออะไร นิสัยจิตวิญญาณเดิมแท้เราเป็นอย่างไร แล้วก็ชอบไปยุ่ง เวลาเขาเกิดขึ้นมาก็ชอบไปยุ่ง
เหมือนเราชอบไปยุ่งเรื่องคนอื่น จิตใจเราเหมือนกันชอบไปยุ่งกับสภาวะอารมณ์เหล่านี้อยู่เรื่อย ๆ นี่คือปัญหา ที่เราภาวนาแล้ว มันไม่ไปหน้ามาหลัง หรือมันไม่รู้สึกถึงการที่ทำให้จิตเปิดกว้าง คับแคบ เอาเฉพาะตัว เอาเฉพาะที่ตัวเองชอบ และเกลียดสิ่งที่ไม่ชอบอยู่อย่างนั้น มันทำให้จิตไม่เปิดกว้าง
วันนี้อยากบอกว่า ทำยังไงให้จิตมันเปิดกว้างที่จะรับทุกสรรพสิ่ง คุณจะอยู่แคบแค่ไหนก็ตาม แต่ความแคบของคุณ คุณจะโดนอัด เพราะธรรมชาติเขาเป็นของเขาอย่างนั้นอยู่แล้ว เหมือนอุปนิสัยของแต่ละคน
ถ้าเราดูสิ เราอยู่ในชุมชน คนนี้เขามีอุปนิสัยอย่างนี้เรารู้จักเขา นิสัยขี้โกรธ ขี้โลภ ขี้หลง นิสัยมีเมตตา มีกรุณา มีมุทิตา มีอุเบกขา ช่วยเหลือผู้อื่น เราก็อยู่ในชุมชนนั้นด้วย
เห็นพฤติกรรมของ ๒ สิ่งนี้ แต่เราอย่าลืมตัวเราเอง เราคือตัวอะไร คือตัวรู้ ที่คอยดักรู้อุปนิสัยลักษณะและอาการของความคิดและอารมณ์อยู่สม่ำเสมอ หรือรู้จักอุปนิสัยของธรรมชาติที่เขากำลังปรุงแต่งเหตุการณ์เหล่านี้อยู่เรื่อย ๆ
ถ้าเรามั่นคงกับการรู้และศึกษามัน อย่างที่มันเป็น แล้วเราจะเข้าใจว่า เราคือใคร เราคือตัวรู้ ที่คอยดักรับรู้นิสัยชุมชนนั้น
แล้วเวลาเราอยู่ร่วมกัน มันต้องมีพื้นที่ส่วนกลาง คอยดักประสาน มีกฏกติกาอยู่ร่วมกัน เหมือนหมู่บ้านจัดสรร
บางครั้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มันมานั่งมากเกินไป เราก็ต้องบริหารจัดการ เออ ไอ้นี่มันขึ้นนานแล้วนะ ต้องให้มันออกไป
อย่าให้มันกินเนื้อที่มากเกินไป เรียกว่าบริหาร ไม่ใช่เรียกว่าจัดการ
ถ้าบริหารมันจะละอคติทั้ง๔
ลำเอียงเพราะรัก
ลำเอียงเพราะชัง
ลำเอียงเพราะกลัว
ลำเอียงเพราะไม่รู้ ออกไป แต่มันจะก้าวข้ามความรู้สึกพวกนี้ แต่เป็นผู้บริหาร
เหมือนกับผู้บริหาร จะมีลูกน้องดี ลูกน้องไม่ดีก็ตาม แต่ต้องบริหารจัดการว่าให้อยู่ได้ อย่าทะเลาะกัน
ในใจเราอย่าทะเลาะกัน อย่าไปทะเลาะกับอารมณ์ หรืออย่าให้อารมณ์อื่นเบียดบังอารมณ์ตัวอื่นมากเกินไป
เอ้า..คุณเกิดนานแล้ว ไปบ้าง ให้คนอื่นมาใช้พื้นที่บ้าง เหมือนบ้านจัดสรรที่เราอยู่ร่วมกัน คนนี้ต้องมาใช้เป็นที่ส่วนกลาง ที่ไม่เป็นของใคร ใครจะมาวิ่ง ใครจะมาเล่น ใครจะมาทำอะไรก็ได้ ใครจะมานั่งก็ได้ เหมือนเก้าอี้ตัวเดียวมันมีที่นั่งอยู่ เอ้า..นั่งนานแล้วออกไปบ้างให้คนอื่นนั่งบ้าง
ในกรณีนี้เหมือนกัน เช่นว่า เวลามันมีความโกรธเกิดขึ้นนานเกินไปเราก็ต้องใช้อุปนิสัยในการเอาตัวอื่นเข้ามาช่วยในการขับไล่มันบ้าง แต่อย่ามีความรังเกียจ เพียงแต่แบ่งปันว่า เออ พื้นที่อันนี้ คุณอย่ามีพื้นที่อันเดียว
เหมือนพื้นที่ของความคิด พื้นที่ของอดีต อนาคต มันเบียดบังพื้นที่ปัจจุบันเกินไป เราก็ต้องพยายามเอาพื้นที่ปัจจุบันเข้ามาใส่แทนให้เกิดขึ้นได้บ่อย ๆ จึงเป็นที่มาของการรู้สึกสั้น ๆ รู้สึกขณะเดียว เพื่อทำให้พื้นที่ของปัจจุบันเกิดขึ้นได้บ่อย
ไม่งั้นแล้วความรู้สึกที่เป็นพื้นที่ของอดีตอนาคต ย้ำคิดย้ำทำอยู่นั่นแหละ มันมาควบคุมพื้นที่ส่วนกลางมากเกินไป มันผิดกฏผิดกติกามากเกินไป ต้องอยู่กันอย่างแบบสันติ
คุณจะมีนิสัยอะไรก็ช่างคุณ ไม่เป็นไร แต่คุุณอย่าทะเลาะกัน ในนิสัยนั้น เหมือนคุณจะมีนิสัยขี้โกรธ ขี้โมโห นั่นเป็นเรื่องนิสัยของคุณ นิสัยของอารมณ์เป็นเรื่องของคุณ คุณมักฟุ้งซ่านทำโน่น ทำนี่นั่นคือ
นิสัยของคุณ ให้คุณรู้จัก หรืออีกคนหนึ่งจะมีนิสัยสงบนิ่ง นิสัยที่ไม่ค่อยยุ่งกับใคร เป็นฝ่ายกุศลทั้งหลายทั้งปวง นั่นก็เป็นนิสัยของมัน
แต่เราต้องฝึกให้รู้นิสัยเหล่านี้ แล้วค่อย ๆ เวลาจะทำอะไรก็ตาม ก็ไปขอความร่วมมือ เอ้อ.. คนนี้มีนิสัยอย่างนี้นะ ขอความร่วมมือช่วยเรื่องนี้หน่อย ทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล ก็ขอความร่วมมือ
ฉันใดเหมือนกัน เวลาเราฝึกปฏิบัติ เราต้องเข้าใจดี ๆ ว่า ทำให้จิตมันเปิดกว้าง ยอมรับทุกสรรพสิ่ง ไม่ว่าเขาจะเป็นในรูปแบบไหนก็ตาม เขาต้องเป็นอยู่แล้ว เขาไม่ได้ฟังคุณหรอก เหมือนนิสัยของคน คุณจะว่าจะด่า คุณจะชอบไม่ชอบ เขาก็จะแสดงนิสัยของเขาอย่างนั้น ให้นึกถึงในใจเราดี ๆ มันเป็นอย่างนั้นแหละ
โกรธ คุณจะเกลียดมัน คุณจะไม่ชอบมัน ถึงเวลามันมีเหตุปัจจัยเกิดมันก็เกิด หรือมีความสงบสุข ถึงเวลามีเหตุปัจจัยพร้อม ไอ้นี่มันก็เกิดความสงบสุขของมัน มันเป็นอุปนิสัยโดยธรรมชาติของมัน
ฉะนั้นธรรมชาติที่สร้างอุปนิสัย แล้วมนุษย์ที่ไม่รู้จักไปซึมซับเอาอุปนิสัยอันนั้นมา ก็เลยต้องรับวิบากของนิสัยอันนั้นด้วยตัวเอง จิตก็เลยเป็นคนต้องรับวิบาก
คุณต้องรู้ว่าคุณซึมซับนิสัยอะไรขึ้นมา คุณต้องรับวิบากนิสัยอันนั้น จะเป็นวิบากในฝ่ายดีก็เป็นวิบาก จะเป็นวิบากในฝ่ายไม่ดีก็เป็นวิบาก นอกจากที่เราจะไม่ซึมซับนิสัยอะไรเลย เราก็ไม่มีวิบาก
งั้นเวลาเราปฏิบัติ เราต้องเข้าใจให้ดี ๆ ว่าเรากำลังศึกษาอุปนิสัยของธรรมชาติเดิมแท้ อุปนิสัยของอารมณ์ต่าง ๆ ที่เขาจะคอยมาให้เรา
หรืออยู่ร่วมกันกับเขานี่แหละ แต่ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างเป็น ต่างคนต่างไป ต่างคนต่างเกิด ต่างคนต่างดับอยู่เรื่อยๆ
เราเป็นผู้หนึ่งที่ต้องบริหารความรู้สึกที่เป็นส่วนกลาง คือมีความเมตตา มีความเคารพ มีการยอมรับสิทธิและหน้าที่ทุกสรรพสิ่ง
ที่เกิดมาทุก ๆ อย่างเขามีสิทธิ์ที่จะเกิด และมีหน้าที่ที่จะเกิด เหมือนทุกข์มีหน้าที่จะเกิดของเขาโดยธรรมชาติ
เราล่ะ มีสิทธิและหน้าที่ออกจากสิ่งเหล่านี้ให้ได้ นี่คือสิทธิ และหน้าที่ของเรา ที่ต้องฝึกจิตฝึกใจเราเอง ให้พามันออกจากอารมณ์ให้ได้ ถ้าไม่งั้นแล้ว ฝึกไปก็จะซึมซับอุปนิสัยไปเรื่อย ๆ นิสัยการมีตัวตน นิสัยการมีอัตตา นิสัยการมีทุกอย่าง
บอกไว้เลยว่า ถ้าเราไม่เข้าใจตรงจุดนี้เราก็จะเผลอเพลินไปสมาทาน ไปเป็นกับอารมณ์เหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว และความรู้ตัวเอง และตัวรู้ของเราเองก็จะสูญเสียความเป็นอิสระ ต้องซึมซับเอาอุปนิสัยอันนั้นไป ก็ต้องซึมซับเอาวิบากอันนั้นไปด้วย
งั้นทำยังไง ให้ความรู้สึกตัวของเราเอง ตัวรู้สึกของเราเองมันจะตื่นขึ้นมาอยู่กับตัวเอง ท่ามกลางเรื่องราวเหล่านี้
เวลาปฏิบัติจึงต้องพยายามละอารมณ์พอใจไม่พอใจ ในทุกสรรพสิ่งให้ได้ และก็ยอมรับ
ยอมรับว่าเราต้องอยู่แบบนี้ เราต้องเกิดมาท่ามกลางเรื่องราวเหล่านี้ เราต้องเป็นเพื่อนกันกับสิ่งเหล่านี้ ทิ้งกันไม่ได้ แต่ไม่ไปกันได้ แต่ไม่
ไปร่วมด้วยได้ เพราะว่ามันจะต้องเป็นแบบนี้ ชีวิตภาวนาแล้ว ก็จะต้องเกิดแบบนี้แหละ ต้องอยู่อย่างนี้แหละ
การภาวนาทั้งหมดจึงไม่ได้ภาวนาไปเพื่ออะไร แต่ภาวนาเพื่อเข้าใจ เข้าใจนิสัยของอารมณ์ต่าง ๆ ว่ามันมีลักษณะมีอาการแตกต่างกันไป แล้วแต่เหตุปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อพร้อมเหตุพร้อมปัจจัยปรุงแต่ง เขาก็จะเกิดขึ้นมาให้เราเห็น ให้เรารู้ ให้เราดู ให้เราได้ศึกษา ให้เราทำความเข้าใจ
งั้นการปฏิบัติตัวรู้สึกตัว พยายามทำจิตให้มันเปิดกว้าง อย่าจิตคับแคบ ว่าจะเอาแต่อย่างนี้ ๆ อย่าไปเลือกเอาใด ๆ แต่เลือกรู้ว่ามันมีนิสัยยังไง อย่าไปเลือกเอาภาวะโน้น เอาภาวะนี้ ไม่ต้อง
แค่ฝึกตัวรู้ขึ้นมา รับรู้อุปนิสัยของอารมณ์
ให้นึกถึงอย่างนี้แล้วกันว่า อารมณ์ทุกอารมณ์ก็เหมือนคน ๆ หนึ่ง ที่มีนิสัยอย่างนี้แหละ แต่ตัวเขาไม่ได้ฝึก
ตัวจิตเราไม่ได้ฝึก จึงได้ซึมซับเอานิสัยนั้นมาใช้ แล้วก็เป็นการผลักดันปัญหาของโลกใบนี้อยู่เรื่อย ๆ ของสังคมใบนี้ ของโลกใบนี้ ของผู้คนทั้งหลายทั้งปวงที่ดำเนินชีวิตอยู่ทุกวัน ก็ไปเอาซึมซับอุปนิสัยของอารมณ์นั่นแหละมาใช้
บางคนมีนิสัยฟุ้งซ่านก็ฟุ้งซ่านไปเรื่อยเปื่อย บางคนมีนิสัยเพลิดเพลินก็เพลิดเพลินกับมันไปเรื่อยเปื่อย บางคนมีนิสัยขี้โกรธก็ขี้โกรธไปเรื่อยเปื่อย บางคนมีนิสัยขี้น้อยใจก็น้อยใจไปเรื่อยเปื่อย บางคนมีนิสัยที่ให้อภัยก็ให้อภัยไปทุกอย่าง บางคนมีนิสัยเมตตาก็เมตตาไปทุกอย่าง บางคนมีนิสัยกรุณาอยากช่วยเหลือก็อยากช่วยเหลือไปทุกอย่าง
ฉะนั้นกุศลและอกุศล ให้อุปมาเหมือนอย่างกับเรารู้สึกว่ามันคือนิสัยของธรรมชาติชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้น
เราจะต้องอยู่ท่ามกลางเหล่านี้ ต้องอยู่ให้เป็น จึงจะเป็นอิสระ ถ้าอยู่ไม่เป็นเมื่อไหร่ก็จะถูกครอบงำ เขาก็จะมาชักชวน มานำเสนอว่าไปกับฉันสิ ฝ่ายไม่ดีก็มาชวนไปกับฉันสิ ฝ่ายดีก็ชวนไปกับฉันสิ
ถ้าเรามีกำลังเป็นตัวของเราเอง แค่รับรู้สังเกตเห็น นี่คืออุปนิสัยของธาตุรู้เดิมแท้ อุปนิสัยของตัวรู้ รับรู้สังเกตเห็นบ้าง รู้สั้น ๆ บ้าง รู้แบบมีเจตนาบ้าง ไม่มีเจตนาบ้าง แต่เจตนาทั้งหมดเพื่อรู้อุปนิสัยเหล่านี้เท่านั้นแหละ นี่คือหลักของมัน
เราจะต้องสร้างอยู่กับนิสัยของพุทธะ นิสัยของตัวพระพุทธเจ้าที่มีอยู่ในเราให้มากที่สุดกว่าไปเสพเอานิสัยอันอื่น
นิสัยอันนี้เขาจะอยู่ในรูปแบบของ ยอมรับทุกสรรพสิ่ง ไม่มีนิสัยเดิมนะ ไม่มีนิสัยนี้ ยอมรับทุกสรรพสิ่งที่จะเกิดขึ้นมา และก็เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน แล้วรู้จักบริหารจัดการให้เป็นความสมดุล อยู่กันอย่างสันติสุข ไม่ทะเลาะกัน
ปัจจุบันนี้ในใจเรามักทะเลาะกันอยู่เรื่อย กุศลและอกุศลที่มันทะเลาะกัน เพราะไม่มีความรู้สึกที่เป็นกลางเกิดขึ้นในใจเรา
แต่เรามีความรู้สึกที่เป็นกลางเกิดขึ้นในใจเราเมื่อไหร่ เหมือนกับเป็นกรรมการนั่นแหละ เป็นกรรมการ เอ้อ..มันก็เหมือนกันนั่นแหละ
แต่ผลสุดท้ายเมื่อเราเข้าใจแล้ว ทุกอย่างเกิดขึ้นมาบนรากฐานเดียวกันคือธาตุ4 กับขันธ์5 มีอุปนิสัยต่างกันคือลักษณะและอาการ
ผลสุดท้ายก็ไปสู่ที่เดียวกัน จึงเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป แล้วจะมามัวแต่ทะเลาะกับอารมณ์เหล่านี้ทำไม มันได้ประโยชน์อะไร กับการทะเลาะกับอารมณ์เหล่านี้
ตัวความรู้สึกเปิดกว้างและยอมรับทุกอย่าง มันจะมีความรัก มีความเมตตา มีการเคารพ มีการยอมรับว่า ทุกนิสัยทุกอารมณ์มันคือธรรมชาติชนิดหนึ่ง ที่เขาสร้างสรรขึ้นมาตามเหตุตามปัจจัย มาจากที่เดียวกัน มีนิสัยต่างกัน ลักษณะต่างกัน แต่ก็ไปสู่ที่เดียวกัน คือเป็นทุกข์ เปลี่ยนแปลง ดับสลาย
และตัวธาตรู้เดิมแท้ของเรา แค่รับรู้เรื่องราวเหล่านี้ เข้าใจมัน ตามที่มันเป็น ไม่ใช่เข้าใจมันตามที่เราต้องการให้เป็น
เรามาหัดที่จะฝึกรู้ทีละขณะ ๆ ฝึกตัวธาตุรู้เดิมแท้ รับรู้สังเกตเห็น อุปนิสัยของอารมณ์ต่าง ๆ เพื่อที่จะไม่หลงเพลิดเพลินเข้าไปสมาทานมาไว้ในตัวเองตอนไหน
การฝึกในการรู้สั้น ๆ เพื่อจะให้เข้าใจนิสัยของอารมณ์ และจะได้รู้จักการบริหารจัดการความพอดี ไม่ให้บางสิ่งบางอย่างมานั่งอยู่ในจิตในใจนานเกินไป โดยอาศัยการสัมผัสความเป็นขณะหนึ่ง ๆ ของมัน แล้วก็ผ่านไป ผ่านไป ให้มันผ่านไปไว ๆ ยังไง ๆ มันก็ผ่านอยู่แล้ว เราก็ปล่อยให้มันผ่านให้เร็วขึ้น อย่าให้มันอยู่นาน ดีก็ตาม ไม่ดีก็ตาม พอรู้นิสัยเขา เรียนรู้นิสัยเขา แล้วก็ปล่อยทิ้ง
เรียนรู้นิสัยเขา แล้วปล่อยทิ้งเพื่อทำให้ตัวรับรู้สังเกตเห็นที่เป็นจิตเดิมแท้ของเราได้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ส่วนกลาง เป็นกรรมการในการบริหารจัดการให้อยู่กันอย่างสันติสุขทุกฝ่าย ไม่ยึดมั่นถือมั่นในอะไร แต่อยู่ด้วยกัน อยู่อย่างกลมกลืน แต่ไม่ถูกกลืน อยู่อย่างเข้าใจสิ่งเหล่านั้น แต่ไม่ได้หลงไปเป็นกับสิ่งเหล่านั้น รู้จักอะไรควรไม่ควร
เลยอยากให้เรานึกถึงภาพในใจว่า เราต้องอยู่ท่ามกลางแบบนี้นะ ปฏิบัติธรรมแล้ว ไม่ใช่มันสงบแบบไม่มีอะไรเลย
การสงบที่แท้จริงคือไม่ไปวุ่นวาย ไม่เข้าไปวุ่นวายกับอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง อย่าเข้าไปยุ่ง แต่แค่เรียนรู้เฉย ๆ ดูห่าง ๆ เห็นห่าง ๆ เข้าใจมันห่าง ๆ อย่าเข้าไปร่วม ถ้าเข้าไปร่วมแล้วจะไม่ได้เห็นสิ่งเหล่านี้ จะเป็นไปทั้งหมด
การฝึกในคอร์สอาทิตย์นี้ทั้งหมดนี่ ก็ลองดู เราจะใช้การฝึกแบบรู้ก่อนเกิด หรือ ให้มันเกิดก่อนรู้ บนเงื่อนไขของความรู้สึก ความเป็นขณะหนึ่ง ๆ เพื่อทำให้ตัวรับรู้สังเกตเห็นของเราเอง หรือตัวรู้ของเราเองได้มีความเข้มแข็งในการที่จะเป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้เอาอารมณ์อื่นมาปลอมปนหรือเลียนแบบเขา
จงเลียนแบบของเราคือตัวธาตุรู้เดิมแท้ เค้าเป็นแบบไหน ก็จงสมาทานนิสัยอันนี้เอาไว้ สมาทานนิสัยอันนี้เอาไว้ ศึกษานิสัยอันนี้เอาไว้ เพื่อจะทำให้จิตใจเรารู้จักอยู่ด้วยตัวเองได้ โดยไม่ต้องไปสมาทานนิสัยอื่น
เมื่อนิสัยนี้มันเต็มเปี่ยม มันสมบูรณ์บริบูรณ์แล้ว ความเป็นอิสระที่จะไม่ซึมซับเอาอันอื่นขึ้นมาก็จะเกิดขึ้นในจิตวิญญาณของเรานั่นแหละ
ทุกวันนี้ที่เราดีบ้างไม่ดีบ้าง เรามัวแต่ไปซึมซับอุปนิสัยอันอื่น ไม่ซึมซับอุปนิสัยของพุทธะที่มีในเรา
อาตมาก็พูดอยู่เรื่องเดียวนี่แหละ ไม่ได้พูดหลายเรื่อง คือฝึกหัดที่จะอยู่กับตัวนิสัยนี้ อยู่กับตัวรับรู้สังเกตเห็น รู้มันสั้น ๆ รู้มันเป็นทีละ
ขณะ รู้ก่อนเกิด เกิดก่อนรู้ มีเจตนา ไม่มีเจตนา เพื่อสร้างอุปนิสัยอันเดียวนี่
สร้างเหตุ สร้างปัจจัยประกอบเข้ามาด้วยจิตที่เปิดใจ มีความรัก มีความเคารพ มีการยอมรับ มีความเปิดกว้างให้ทุกสรรพสิ่งเกิดขึ้นได้อย่างอิสระ แต่เราเป็นคนเลือกจะเป็นหรือไม่เป็นเท่านั้นเอง
เช้านี้ก็ให้ข้อคิดถึงเรื่องการดำเนินขีวิตในอาทิตย์นี้ ที่จะรู้จักว่า
ทำอย่างไรให้จิตมันเปิดกว้าง ไม่คับแคบ และ
ทำยังไงให้จิตมันรู้นิสัยเดิมแท้ เป็นจิตเดิมแท้ของมัน คือตัวรับรู้สังเกตเห็น ตัวรู้สั้น ๆ ตัวรู้ที่อยู่ในปัจจุบัน
เพื่อจะเติมกำลังของมันให้เต็มที่ ที่จะได้ปิดกั้นการไปซึมซับนิสัยเดิม ๆ นิสัยที่ไปกับความคิด นิสัยไปกับอารมณ์ นิสัยไปกับโลภโกรธหลงบ้าง หรือนิสัยที่เป็นกุศลบ้าง สิ่งเหล่านี้
อารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงเขาสร้างรูปแบบของนิสัย เขาสร้างลักษณะของอารมณ์มา เพื่อให้เรารู้จัก ไม่ใช่ให้เราหลงงมงายไปกับมัน มันก็เลยทำให้เราอยู่กับตัวเองได้ยาก เป็นอิสระได้ยาก
แต่ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ เราจะอยู่กับตัวเองได้ง่าย เป็นอิสระได้ง่าย แล้วก็สบายในทุกสถานการณ์
ขอให้เราพยายามเข้าถึงมันให้ได้ทุก ๆ ท่าน ทุก ๆ คนด้วยกันเทอญ เจริญพร "
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ช่องทางอื่นๆในการรับสื่อธรรมะ
YouTube, FaceBook พระอาจารย์กระสินธุ์
Podcast : รู้ขณะเดียว
ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านที่ติดตามรับฟัง..สาธุ
Comments (0)
To leave or reply to comments, please download free Podbean or
No Comments
To leave or reply to comments,
please download free Podbean App.