Episodes
Tuesday Dec 22, 2020
วันที่2_06 ฝึกออก ฝึกฝืน พจ.กระสินธุ์ 131063
Tuesday Dec 22, 2020
Tuesday Dec 22, 2020
เมื่อฝึกรู้สึกตัว รู้อารมณ์ รู้เรื่องกายและสิ่งปรุงแต่งกาย รู้เรื่องจิตและสิ่งปรุงแต่งจิต โดยไม่ทำอะไรกับมัน เห็นธรรมชาติทำงานของมันเองแล้ว บางครั้งรู้แล้วมันอดไม่ได้ รู้แล้วหยุดความคิดไม่ได้ ‘รู้บ้าง-หลงบ้าง-เพลินบ้าง’ ก็ต้องเข้ามาสู่ขั้นตอนที่สองคือ ฝึกออกและฝึกฝืน
การฝึกออก : คือ ‘การฝึกออกจากอารมณ์..มาอยู่กับ..ภาวะปัจจุบันของกายและใจ’ หรือ ‘การฝึกไม่ให้จิตเสียศูนย์ไปจากการรับรู้..ไม่ให้จิตเข้าไปร่วมกับอารมณ์’ให้จิตรับรู้เพียงปัจจุบัน ซึ่งเกิดขึ้นแป๊บเดียว->แล้วหาย ทำให้รู้กายชัดขึ้น รู้สิ่งปรุงแต่งกายชัดขึ้น ตัวอย่างเช่น การกระพริบตา ขณะรู้สั้นๆ นั้นภาวะของการเข้าไปร่วมกับอารมณ์ก็หายไป
- หากจิตเข้าไปร่วมกับอารมณ์ จะทำให้อารมณ์นั้นๆ รุนแรงขึ้น สิ่งที่ปรากฏชัดคือ ความคิด ซึ่งมีเรื่องของ ‘อดีต’ และ ‘อนาคต’ เรื่องตรงหน้าคือ ‘ปัจจุบัน’ หายไป (ยืน เดิน นั่ง หรือ นอน ->ไม่รู้) อาจมี กายกรรม และ วจีกรรม ร่วมด้วย เช่น เวลาโกรธ เราจะคิดมาก ดึงเรื่องเก่าๆ มาคิด มาสนับสนุน แล้วก็โกรธมากขึ้น มีวจีกรรมและกายกรรมตามมา
- ดังนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ‘การฝึกออก’ ก็คือ ‘การฝึกออกจากความคิด’ นั่นเอง
วิธีการฝึกออก : ให้หัดรู้ หรือฝึกให้ตัวรับรู้->รู้อารมณ์ปัจจุบันให้มาก เอาจิตมารับรู้กาย และรับรู้สิ่งปรุงแต่งกายให้มาก
- ให้เห็นอาการของกายชัดขึ้น รูปชัด เสียงชัด กลิ่นชัด รสชัด สัมผัสชัด ยืนรู้ เดินรู้ นั่งรู้ นอนรู้ เมื่อเห็นภาวะของกายชัดเจน ณ ขณะรู้นี้เป็นภาวะที่จิตเริ่มออกจากการเข้าไปข้างใน ออกมาเห็นภาวะข้างนอก รวมทั้งเห็นสิ่งปรุงแต่งกายชัดเจนด้วย เช่น เย็น, ร้อน, อ่อน, แข็ง, ไหว, เคลื่อน หรือ คิด->รู้ ตรงนี้คือ ‘ออก’ แล้ว
- บางจังหวะจิตมันดื้อ ไม่ยอมออก ชวนก็ไม่ออก ก็ต้องใช้ ‘ภาวะฝืน’ เข้าช่วย
การฝึกฝืน : คือ การฝึกรู้แบบไม่สู้ ไม่หนี ฝืนอยู่กับอารมณ์นั้นๆ แต่ไม่ให้อาหารมันแล้วดูว่ามันจะเป็นอย่างไร..เท่านั้น ต้องอดทนไม่เอากายกรรม วจีกรรม ไปร่วมด้วย หรือพูดง่ายๆ คือรักษาศีล อย่าผิดศีล หากเพียงแต่นั่งดูจิตที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอด เห็นการคิดของจิต เห็นพฤติกรรมของจิตในการคิด วางแผนบ้าง อยากจะไปที่โน่นนี่นั่นบ้าง อยากทำโน่นนี่นั่นบ้าง ให้ ‘เรียนรู้เขา->แต่ไม่ทำตาม’ ฝึกจิตให้เป็นอิสระจากอารมณ์
วิธีการฝึกฝืน : ค่อยๆ ถอยตัวเองออกมาเป็นผู้ดู ผู้รู้ ไม่ทำตาม ไม่คล้อยตาม ไม่เอากายกรรมและวจีกรรมไปร่วม ปรับมโนกรรมจาก ‘หลงอารมณ์’ มาเป็น ‘รู้อารมณ์’ เห็นความทุกข์ เห็นการเปลี่ยนแปลง เห็นความไร้สาระของมัน พึ่งไม่ได้ อาศัยไม่ได้ ไม่ควรเข้าไปยุ่งด้วย
- ตัวอย่างเช่น เวลาโกรธ หรือเวลาอยากสูบบุหรี่ หรืออยากกินกาแฟ จิตมีอารมณ์โกรธ มีอารมณ์อยากสูบ อยากกินมากระทบ เกิดภาวะเร่าร้อน กระวนกระวาย อึดอัดขัดเคือง มีความคิดวางแผนสารพัด อยากพูด อยากต่อว่า อยากทำ ย้ำคิด แล้วลืมภาวะปัจจุบัน ดังนั้น ต้องอดทน ไม่เอากายกรรมและวจีกรรมไปทำตามความต้องการของจิตนั้น ให้ฝืนกายกรรม ฝืนวจีกรรม ไม่ทำตามอารมณ์ ใหม่ๆ อาจทรมานบ้าง พอทำไปบ่อยๆ จะชินไปเอง
ฝึกออก & ฝึกฝืน เพื่ออะไร : เพื่อให้ภาวะการรับรู้บริสุทธิ์ขึ้น สกัดตัวเองออกมาจากสิ่งปลอมปนมาเป็นตัวของตัวเอง เปิดโอกาสให้มโนกรรมได้เรียนรู้ ได้เข้าใจ และเกิดปัญญาฉลาดขึ้น เวลาภาวนาก็จะรู้สึกสบาย
- บางคนภาวนาแล้วง่วง กลัว ปวด เมื่อย ก็ต้องอาศัย ‘ศรัทธา’ และ ‘วิริยะ’ เข้าช่วย ให้มีความกล้า กล้าที่จะเผชิญกับความปวดความทรมาน ให้มีสติ มีสัมปชัญญะ ฝึกให้เกิดบ่อยๆ จนคุ้นชิน ให้ทั้งหมดเป็นเพียงแค่รู้เท่านั้น เขาเกิดเองก็จะหายไปเอง ต่อจากนั้นค่อย ‘ฝึกวาง’ เป็นขั้นตอนสุดท้าย
สรุป : ฝึกรู้ ฝึกออก & ฝึกฝืน
- ฝึกรู้ : ฝึกรู้อารมณ์ที่มากระทบทวารทั้งหก ณ ปัจจุบัน เป็นขณะๆ ไป เพียงแค่รู้->ไม่ต้องทำอะไร
- ฝึกออก : ฝึกออกจากการเข้าไปร่วมกับอารมณ์ ซึ่งทำให้ภาวะรู้->หายไป
- ฝึกฝืน : ฝืนกายกรรม & วจีกรรม ไม่ให้ทำตามอารมณ์ ไม่ทำตามมโนกรรมที่เกิดขึ้น
รู้อย่างไรเรียกว่ารู้ชัด : รู้อย่างที่มันเป็น ณ ปัจจุบันนั้นๆ ไม่เปรียบเทียบ ไม่เทียบเคียง กับอดีตที่เคยรับรู้มาก่อน ให้อยู่กับปัจจุบัน
- เช่นการฟังเสียงบรรยายธรรม : ชัดคือชัด หนักคือหนัก เบาคือเบา ดังคือดัง ค่อยคือค่อย นี่คือวิธีการรู้ชัด รู้อย่างชัดเจน ณ ปัจจุบัน ที่เกิดตรงหน้า ที่นี้ เดี๋ยวนี้ เท่านั้น
- เมื่อเดินจงกรม : อาการเดินเป็นอย่างไร ก็รู้ชัด ณ ขณะนั้น หลงไปคิด->ก็ให้รู้ว่าคิด, ดีใจ->ก็รู้ว่าดีใจ, สงบ-ก็ให้รู้ว่าสงบ, ฟุ้งซ่าน, คิดดี, คิดชั่ว->ก็ให้รู้ไปตามนั้น
- ทั้งหมดคืออารมณ์ ไม่ใช่ใจ ไม่ใช่จิต จิตเป็นเพียงตัวรู้
- ทำไมอารมณ์เหล่านี้จึงเกิด : เพราะเป็นวิบากของชีวิต หากเข้าไปร่วมก็จะทุกข์ หากเป็นอิสระจากมันได้ก็จะสบาย
ฝึกรับรู้ขณะรับประทานอาหาร : ขณะรับประทานอาหารก็ให้ฝึกไปด้วย หัดรับรู้กายรับรู้ใจ รับรู้สิ่งปรุงแต่งกาย และสิ่งปรุงแต่งใจ จากสิ่งที่มากระทบทวารทั้งหก
- ตา – รับรู้สี ลักษณะ ของอาหาร
- หู – รับรู้เสียงจานชาม ช้อนส้อม กระทบกัน เสียงเคี้ยวอาหาร
- จมูก – รับรู้กลิ่นของอาหารชนิดต่างๆ
- ลิ้น – รับรู้รสของอาหาร (เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม)
- กาย – รับรู้อาหารร้อน เย็น หยาบ ละเอียด
- ใจ – รับรู้ความคิด อร่อย ไม่อร่อย ชอบ ไม่ชอบ
- ให้เห็นทีละอย่างๆ ไป หัดรับรู้เมื่อมันหายไปด้วย
- หาก ‘หลง’ ก็จะไม่รู้เรื่องทั้งหมดข้างต้นอย่างครบถ้วน ส่วนใหญ่จะรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง ก็ให้ฝึกไป ฝึกตรงนี้ เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องรอพรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้จึงค่อยฝึก.
ช่วงนาทีของเนื้อหา
01:19 จิตที่เข้าไปเป็นกับอารมณ์
04:48 ฝึกออก
08:10 ฝึกฝืน
12:39 วิธีแก้นิสัย
19:59 ฝึกออก ฝึกฝืน เพื่ออะไร
21:49 สรุป ฝึกรู้ ฝึกออก ฝึกฝืน
25:05 รู้อย่างไรเรียกว่ารู้ชัด
30:05 ฝึกรับรู้ในขณะรับประทานอาหาร
ธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์กระสินธุ์ อนุภัทโท คอร์ส"พ่อแม่พาธรรม" วันที่ 13 ตุลาคม 2563 เช้า ณ บ้านจิตสบาย
ช่องทางอื่นๆในการรับสื่อธรรมะ
YouTube, FaceBook พระอาจารย์กระสินธุ์
Podcast : รู้ขณะเดียว
ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านที่ติดตามรับฟัง..สาธุ
Comments (0)
To leave or reply to comments, please download free Podbean or
No Comments
To leave or reply to comments,
please download free Podbean App.